“สมุดไทย” เอกสารโบราณหลักฐานสำคัญต่อการศึกษาค้นคว้าข้อมูลสรรพวิทยาการสาขาต่าง ๆ เป็น “บันทึกทรงคุณค่า” ที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง…
สมุดไทยโบราณ พระนิพนธ์ทางการแพทย์แผนไทย ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ปัจจุบันก็ได้มีการนำมาจัดพิมพ์ 2 เล่ม คือ “สรรพคุณตำรา เล่ม ๑-๒ ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท” ด้วยความประสงค์ที่จะดำเนินการเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยจะมีการมอบรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้ ศิริราชมูลนิธิ ในการก่อตั้ง “กองทุนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท” เพื่อการแพทย์แผนไทยและเภสัชพฤกษศาสตร์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท นอกจากจะ ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการบำบัดรักษาโรค ยังโปรดศึกษาค้นคว้า แสวงหาความรู้ด้วยพระองค์เองอยู่เสมอ ทรงสะสมตำราทางการแพทย์ต่าง ๆ ไว้ในพระคลังตำรา ส่วนหนึ่งเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากสกุลบางช้างทางฝ่ายพระมารดา ที่เป็นตำรายาโบราณอันทรงคุณค่า อาทิ ตำราโอสถพระนารายณ์ และตำรายาครั้งรัชกาลที่ 2 ที่มีการนำมาตีพิมพ์เผยแพร่และใช้ประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน ความรู้ในการศึกษาและสะสมตำรายาทำให้ทรงค้นคว้าและทรงพระนิพนธ์ตำรายาที่สำคัญคือ “สรัพคุณตำรากรมหลวงวงษา เล่ม ๑-๒” ทรงเรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว เป็นการค้นคว้าตามแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ของตะวันตก เป็นแบบอย่างของการวิเคราะห์ข้อมูลพืชสมุนไพรมาจนถึงปัจจุบัน
“สรรพคุณตำรา เล่ม ๑-๒ ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท” ที่มีการจัดพิมพ์ขึ้น จากคำนำโดย ท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ระบุไว้ว่า ครูบาอาจารย์ ปราชญ์ผู้รู้ และพระเจ้าแผ่นดิน ได้เก็บรักษาตำรับตำราไว้ในหอสมุด มีผู้รับผิดชอบรักษาเพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ห้องเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ มีเอกสารมาก มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างดี เอกสารเหล่านี้เป็นคลังความรู้แสดงความเจริญทางปัญญาของประเทศที่ควรทราบและศึกษา

สมุดไทยชุดนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ขณะที่ทรงบัญชาการกรมหมอหลวงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 4 ได้ทรงทดลอง ศึกษา ค้นคว้า เรียบเรียงและชำระให้เป็น “สรัพคุณตำรากรมหลวงวงษา เล่ม ๑-๒” มีเนื้อหาดังนี้ เล่ม ๑ พระคำภีร์สรัพคุณ แสดงประโยชน์ของสรรพสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติโดยละเอียด ตามหลักการวิจัยแบบสากล เล่ม ๒ พระคำภีร์สมุฐานวินิจฉัยว่าด้วยมหาพิกัษสรัพคุณ เป็นเรื่องของการวิเคราะห์และแสดงพิกัษในการนำสรรพคุณมาปรุงเพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษา
สมุดไทยชุดนี้ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ขณะที่ทรงบัญชาการกรมสาธารณศุขในขณะนั้น ประทานให้หอสมุดวชิรญาณเมื่อ พ.ศ. 2458 เล่ม ๑พระคำภีร์สรัพคุณ พิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง เนื่องจากเป็นที่นิยมมากและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายว่าเป็น “ตำราสรรพคุณยาของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท” ส่วน เล่ม ๒ พระคำภีร์สมุฐานวินิจฉัยว่าด้วยมหาพิกัษสรัพคุณ ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน เนื่องจากได้ค้นพบในห้องเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2549 เมื่อครั้งที่มีการรวบรวมพระประวัติและผลงานของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เพื่อนำเสนอไปยัง องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และมีการ ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาปราชญ์และกวี (Scholar & Poet) ประจำพุทธศักราช 2551

การเตรียมงานจัดพิมพ์ “สรรพคุณตำรา เล่ม ๑-๒ ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท” ชุดนี้ นอกจากจะ นำเนื้อหาของสมุดไทยที่เก็บรักษาไว้อย่างดีในหอสมุดแห่งชาติมาเป็นหลัก และยังเพิ่มเติมสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น คำแปลภาษาอังกฤษ ภาพประกอบสมุนไพรแต่ละชนิดที่แสดงรายละเอียดอย่างชัดเจน รวมถึง มีการเข้าเล่มแบบสมุดไทยโบราณ การทอผ้าไหมด้วยฝีมือและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทอยกอักษรพระนามและตราสัญลักษณ์ของพระองค์ เพื่อหุ้มปกและกล่องบรรจุ ฯลฯ
การนำสมุดไทยโบราณ “สรัพคุณตำรากรมหลวงวงษา เล่ม ๑-๒” มาจัดพิมพ์ครบทั้ง 2 เล่ม ให้ชื่อว่า “สรรพคุณตำรา เล่ม ๑-๒ ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท” จึงเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ที่ควรค่าแก่การดำรงชีวิต มีสาระความรู้เป็นคุณประโยชน์ เป็นการรักษาและแสดงความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการแพทย์ของไทยให้ยั่งยืนต่อไป
สำหรับการเตรียมต้นฉบับเพื่อจัดพิมพ์ “สรรพคุณตำรา เล่ม ๑-๒ ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท” ทางด้าน สุโรจนา เศรษฐบุตร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการ ระบุไว้ในบทนำว่ามีการนำเนื้อหาของสมุดไทยในหอสมุดแห่งชาติมาประกอบกับการค้นคว้าและเรียบเรียงพระประวัติโดยตลอดพระชนมายุของพระองค์ โดยเริ่มจากพระประสูติกาลในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

การปลูกฝังความรู้ทางการแพทย์เมื่อเจริญพระชนม์ ในรัชกาลที่ 2 การเข้ารับราชการกำกับกรมหมอ ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งคาดว่า สรัพคุณตำราฯ ได้เรียบเรียงขึ้นในเวลานั้น เนื่องจากมีความพร้อมของสำนวนตามที่ปรากฏในศิลาจารึกวัดพระเชตุพน ต่อมา ในรัชกาลที่ 4 ทรงมีบทบาทสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน การสาธารณสุข และการนำวิวัฒนาการทางการแพทย์ตะวันตกมาใช้ควบคู่กับการแพทย์แผนไทย และปลายพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงเข้าเฝ้าเพื่อถวายการรักษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์
วาระครบรอบ 200 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เฉลิมพระเกียรติให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกในสาขาปราชญ์และกวี (Scholar & Poet)
คณะผู้ดำเนินการตั้งปณิธานที่จะนำสมุดไทยโบราณ “สรัพคุณตำรากรมหลวงวงษา เล่ม ๑-๒” มาจัดพิมพ์ครบทั้ง 2 เล่ม เพื่อเป็นสาระความรู้ที่เป็นคุณประโยชน์ทางการแพทย์ และประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย และนำพระประวัติและผลงานของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มาเผยแพร่ เพื่อเป็นแบบอย่างของการดำรงชีวิตอันทรงคุณค่า ให้เป็นสมบัติของชาติสืบไป ด้วยรำลึกในพระเมตตาคุณ และพระกรุณาธิคุณ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
ทั้งนี้ นี่เป็นโดยสังเขปเกี่ยวกับที่มา และเรื่องราวของอีกหนึ่ง “บันทึกทรงคุณค่า” ของไทย ที่ปัจจุบันได้มีการบันทึกขึ้นใหม่ ซึ่งผู้สนใจเพิ่มเติมรายละเอียดได้ที่ www.facebook.com/kromluangwongsa บันทึกทรงคุณค่าภูมิปัญญาแพทย์ไทย… “สรรพคุณตำรา เล่ม ๑-๒ ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท”.
ทีมวาไรตี้