เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานประกาศความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับ Google for Education เพื่อร่วมกันพลิกโฉมอนาคตการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล โดยมีผู้บริหาร ศธ.และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรี สกอตต์ หว่อง หัวหน้าฝ่ายด้านการศึกษา Google Asia Pacific และแจ็คกี้ หวาง Country Director Google ประเทศไทย เข้าร่วม

โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศตามนโยบาย “Anywhere Anytime” ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งนี้โครงการความร่วมมือ Google for Education จะเป็นหลักสูตรและประกาศนียบัตรสำหรับนักเรียนครั้งแรกในโลก โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้และสอบวัดระดับความรู้เกี่ยวกับ Google Workspace for Education และ ChromeOS ผ่านระบบ Massive Open Online Courses (MOOC) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลของ Google ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และได้รับประกาศนียบัตรหลังเรียนจบหลักสูตร นอกจากนี้ยังมีการใช้ Chromebook ในกลุ่มโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มุ่งเน้นการนำ Chromebook ไปใช้ในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความสนุกสนานในการเรียนรู้ และลดภาระงานของครูผู้สอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนความต้องการพิเศษอีก 20 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากพบว่า โครงการวิจัยที่ Google for Education ได้ทำร่วมกับโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ประสบความสำเร็จด้วยการเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ควบคู่กับการใช้เครื่องมือจัดการเรียนรู้เชิงรุก ส่งเสริมความคิดเชิงวิพากษ์การแก้ปัญหา การสื่อสารและการทำงานร่วมกัน ตลอดจนพัฒนาความรู้ด้านไอซีทีของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนนั้น โครงการความร่วมมือ Google for Education จะมีการดำเนินการผุดคู่มือที่เรียกว่า Guideline AI สำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการสร้างความก้าวหน้าทางการศึกษาด้วย AI โดยในปีการศึกษา 2568 คาดว่าจะประกาศใช้นโยบาย Guideline AI  ซึ่งอาจจะต้องมีการหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการการใช้งานขึ้น รวมถึงการศึกษาตัวอย่างการใช้ Guideline AI ของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อมาปรับบริบทการใช้งานให้เข้ากับของประเทศไทย อีกทั้งการควบคุมการใช้งานระบบดังกล่าวจะกำหนดการเข้าถึงของเด็กด้วยว่าควรอยู่ในกลุ่มไหนบ้าง

ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวว่า สำหรับนโยบาย  Guideline AI จะมีการกำหนดว่าหากครูนำมาใช้ในการเรียนการสอนแล้วควรจะใช้แบบไหน และผู้เรียนระดับไหนจะเลือกใช้การเรียนรู้ในรูปแบบใดบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่ควบคุมการใช้งานเราต้องการให้เป็นมนุษย์เท่านั้น และเด็กจะต้องเรียนรู้การใช้งานและควบคุมระบบได้ด้วย โดยจะมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำประกาศการใช้งาน Guideline AI  ในสถานศึกษา เพื่อให้โรงเรียนนำมาใช้บริหารจัดการเรียนการสอน ซึ่งไม่ได้เป็นการบังคับการใช้งานแต่จะให้ระบบ Guideline AI  มีทิศทางการใช้งานให้เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน