การเปิดกล่องการสุ่มยังเชื่อมโยงถึงการสะสม ต่อเนื่องถึงการสร้างสรรค์สร้างตัวคาแรกเตอร์อาร์ตทอยของศิลปิน และอีกหลากหลายมิติน่าศึกษา ทั้งนี้ในบรรยากาศของวันเด็ก ช่วงเวลาแห่งความสุขและการเรียนรู้ที่เพิ่งผ่านไป นำเรื่องราวมีเสน่ห์อาร์ตทอย ชวนเปิดกล่องค้นเรื่องน่ารู้ โดย คมกฤษ เทพเทียน อาจารย์พิเศษ ประติมากรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศิลปินอิสระ ผู้ก่อตั้ง Motmo studio ให้มุมมองปรากฏการณ์กล่องจุ่ม การสะสม การสร้างสรรค์อาร์ตทอยว่า อาร์ตทอยสำหรับตนเองมองว่าคำนี้มีความกำกวมหาขอบเขตไม่ค่อยเจอ แต่อย่างไรแล้วเป็นคำที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ทำให้รู้จักการ์ตูน

“การสุ่ม การจุ่ม การลุ้นในรูปแบบนี้มองว่ามีมานาน อย่างตนเองเป็นเด็กยุค 90 ตอนปลาย ในตอนนั้นจะมีขนมถุง ราคาย่อมเยา ในขนมถุงจะมีของเล่น และของเล่นนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อีกทั้งสมัยนั้นเป็นยุคแรกที่การ์ตูนลิขสิทธิ์ญี่ปุ่นเข้ามาฉาย มีการนำมาทำเป็นสินค้า ทำเป็นขนมถุง มีของอะไรอยู่ข้างในซึ่งสร้างความสนุกที่ได้ลุ้น ได้เปิดออกมา”

ส่วนถ้ามองในช่วงสองสามปีมานี้จะเห็นถึง ปรากฏการณ์การสุ่มหรือการจุ่ม มีแพร่หลายมาก จากที่กล่าวรูปแบบนี้มีมานานโดยซ่อนตัวอยู่ในกลไกของการสะสม โดยการสุ่มมาพร้อมกับการลุ้น หรือการไม่ได้ดั่งใจเสมอไปซึ่งก็เสน่ห์ที่สร้างปรากฏการณ์จุ่มขึ้น อย่างเช่น อาจได้ตัวซีเคร็ท หรือได้แต่ตัวซ้ำ ผิดหวังบ้าง สมหวังบ้างปะปนกัน การได้เปิดกล่องจุ่มโดยที่ไม่รู้ว่าด้านในเป็นอะไรจึงเป็นความสุข เติมรสชาติให้กับชีวิต

“ถ้าโชคดีบางตัวเป็นตัวซีเคร็ทซึ่งหนึ่งในร้อยตัวมีตัวเดียวก็จะมีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ผู้ซื้อจึงกล้าที่จะลงทุน ซื้อเป็นบ็อกซ์เซตก็ไม่เสียดาย โดยถ้านำไปขายในราคามือสองก็อาจได้เงินที่ลงทุนกลับมาบ้าง หรือกลับคืนมาได้หมด กล่องจุ่มจึงยังคงเป็นที่สนใจ ขณะที่คาแรกเตอร์ดีไซน์ที่เกิดขึ้นนอกจากจะมีพลังดึงดูดการซื้อ การสะสมจากกลุ่มรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับแอนิเมชั่น เว็บตูนต่างๆ กลุ่มวัยทำงานก็เป็นฐานสำคัญ ปรากฏการณ์จุ่มจึงเป็นปรากฏการณ์ที่มีพลัง”

อาจารย์พิเศษ ประติมากรรม ศิลปินอิสระ คมกฤษ ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า เสน่ห์การเปิดกล่องสุ่มส่วนตัวมองว่าเป็นเหมือนได้ลุ้นเติมรสชาติ เติมความสุข ทั้งมีแง่มุมการสะสม เพิ่มมูลค่า ดังที่กล่าว หากเซตไหนเป็นลิมิเต็ด หรือไม่มีการผลิตแล้ว การได้สะสมไว้ยิ่งเพิ่มมูลค่า ส่วนถ้ามองถึงความสดใสของอาร์ตทอย ของที่เป็นคาแรกเตอร์ดีไซน์ มองว่ากลับมาอยู่ที่เส้นกราฟเดิม ยังคงไม่จางหายยังคงมีการซื้อขายกัน ไม่หายไปไหน

“ถ้ามองในกลุ่มสร้างสรรค์และการสะสมก็ยังคงมีอยู่มาก สิ่งนี้เป็นภาพสะท้อนของยุคสมัย โดยถ้าเด็กเจนใหม่ๆ ยังดูการ์ตูน ดูแอนิเมชั่นอยู่ ใช้สติกเกอร์ไลน์ ตัวการ์ตูนเหล่านี้ยังอยู่ในชีวิตประจำวันพวกเขา ยังคงถูกนำมาใช้ผลิตเป็นสินค้าอยู่เสมอๆ แต่ทั้งนี้หากตลาดเริ่มอื้อ คนทำเยอะขึ้นก็ต้องพัฒนาตนเอง มองไปข้างหน้ามากขึ้น

หาความแตกต่าง ในการทำงานของตนเอง ในฐานะผู้ผลิตสร้างสรรค์ผลงาน ตนเองจะเชื่อมโยงงานไปกับวัฒนธรรม ศิลปะท้องถิ่น ความเป็นไทย เพื่อจะนำสิ่งที่อนุรักษ์กลับมาร่วมสมัย ผลงานจึงแฝงไปด้วยเรื่องราวเหล่านี้ ทั้งมีความตั้งใจสร้างความเฉพาะให้กับท้องถิ่น  มีอยู่เฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ และการที่มีผู้สร้างสรรค์ผลงานมากขึ้นจะช่วยกันให้เกิดการเติบโต เกิดผลงานที่หลากหลายเข้าถึง Gen ใหม่ๆ ดียิ่งขึ้น โดยช่วยกันสร้างสรรค์ สร้างอาร์ตทอยผลงานศิลปินไทยได้ครองใจนักจุ่ม นักสะสม”  

“กล่องสุ่ม นอกจากการได้ลุ้น แต่ละผลงานของศิลปินยังมีเรื่องราวที่อาจเป็นที่ถูกใจของนักจุ่ม ที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น สายวัฒนธรรม คนที่ชอบประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า หรือชอบความน่ารัก สดใส ก็จะมารวมตัวกัน อย่างงานของตน ไม่ใช่แค่ดีไซน์เป็นของเล่น แต่นำของเล่น ของสะสมมาผูกกับเรื่องราว โดยบางเรื่องเป็นขนาดเล็กๆ ที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือเรียน และจะหายไป หรือบางเรื่องเป็นเรื่องเล่าของท้องถิ่นก็จะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อให้ยังคงอยู่ และได้ถูกเล่าเรื่องต่อไป

ส่วนงานอาร์ตทอยต่อจากนี้มองว่าจะมีความหลากหลาย มีเลเยอร์เพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองผู้ซื้อ ทั้งมีกลุ่มนักสร้างสรรค์เพิ่มจำนวนขึ้น มีดีไซน์ที่แสดงถึงความเฉพาะตัว เพิ่มโอกาสเข้าถึงผลงานที่ตรงกับตนเองมากขึ้น  มีกลุ่มผู้เล่นผู้สะสม มีการแลกเปลี่ยน พูดคุย เกิดสังคมที่ชื่นชอบอะไรเหมือนกันซึ่งก็เป็นอีกเสน่ห์ที่เกิดจากการจุ่ม”

ศิลปินอิสระ คมกฤษ ให้มุมมองถึงการบุกเบิกผลงานที่เป็นคาแรกเตอร์ไทย โดยเล่าถึงผลงานอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง โดยท่านสร้างผลงานแอนิเมชั่น สุดสาคร ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ของนักเขียนการ์ตูนผู้บุกเบิก เปลี่ยนความเป็นไทยวิจิตรเป็นไทยโมเดิร์น เป็นไทยแบบที่เป็นตัวการ์ตูนที่ให้คนรุ่นใหม่เชื่อมต่อได้  ส่วนงานแรกๆ ของตนเอง กาชาปอง ‘อับเฉาไม่อับเฉา’ ที่วัดอรุณราชวรารามในเทศกาล Bangkok Art Biennale 2018 หลายคนกล่าวถึงผลงาน เป็นเหมือนการจุดพลุ จุดประทัดนัดดัง ทำให้เห็นว่าคนไทยพร้อมสนับสนุนสินค้าไทยที่เป็นตัวการ์ตูน  

จากนั้นเป็น หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ อาร์ตทอยสไตล์ไทย โดยมี มอม เป็นที่จดจำ เป็นชุดที่ตั้งใจนำเสนอโบราณวัตถุ ความภาคภูมิใจในฝีมืองานช่างพื้นถิ่น สร้างสรรค์ผลงานเพื่อนำมาแก้ไขต้นทาง ปลูกฝังคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเราเห็นถึงคุณค่าความสำคัญของงานพื้นถิ่น เห็นคุณค่าความงามของศิลปะไทยโดยสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยให้มีความเกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์

“หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ฉายาที่ชาวเน็ตตั้งให้เป็นบรรดาสัตว์หิมพานต์เฝ้าโบสถ์วัดทางอีสานและภาคเหนือตอนล่าง อย่าง มอม มาจากวัดพระธาตุขามแก่น จังหวัดขอนแก่น นาคสีเขียว จากวัดโพธิ์ศรีทุ่ง จังหวัดอุดรธานี ฯลฯ สร้างสรรค์เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่น โดยโบราณวัตถุเหล่านี้จะยังคงอยู่ได้หากคนในท้องถิ่นดูแล หวงแหน

จากชุดหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ในครั้งแรกก็ได้นำมาสร้างสรรค์ ต่อยอด นำเสนอในเทศกาลต่างๆอย่าง เทศกาล Halloween นำมาเชื่อมโยงบอกเล่าความเป็นไทยให้คนต่างชาติเข้าใจ ใช้ศิลปะตอบโจทย์สร้างการเรียนรู้วัฒนธรรม โดยทิศทางของการทำอาร์ตทอยสามารถสร้างสรรค์ต่อไปได้อีกหลายรูปแบบ สามารถสอดแทรกศิลปวัฒนธรรมไทย สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ได้”

ศิลปินคมกฤช กล่าวอีกว่า ตนเองเป็นประติมากรทำงานศิลปะร่วมสมัย อย่างผลงานอับเฉาไม่อับเฉา วัดอรุณฯ กาชาปองชุดนี้เป็นตุ๊กตาจีนย่อขนาด ใส่ประวัติศาสตร์ให้เรียนรู้ไปพร้อมกัน อีกทั้งในแต่ละแบบยังจะกระจายอยู่ทั่ววัดอรุณ ทำให้ผู้ที่มาสุ่มได้เดินชมวัด ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ เดินตามหา ถ่ายรูปคู่กับของจริง งานศิลปะชิ้นเล็กๆ ในรูปแบบกาชาปองนี้จึงเป็นเหมือนมัคคุเทศก์นำชม และล่าสุดกับการแสดงผลงานศิลปะบางกอกอาร์ตเบียนนาเล 2024 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งก็มีงานกาชาปองชื่อเดียวกับตนเองนำมาให้สุ่มอีกครั้ง โดยผลงานทั้ง 5 ชิ้น บอกเล่าพื้นที่ เล่าประวัติศาสตร์ชวนให้ย้อนกลับมาศึกษา

อีกผลงานที่บอกเล่าความมีเสน่ห์ชวนลุ้น ชวนสุ่ม บอกเล่าความมีเสน่ห์ ปรากฏการณ์กล่องจุ่ม และอาร์ตทอย

                                                                                                                  พงษ์พรรณ บุญเลิศ