ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 พร้อมด้วย นพ.ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ สาธารณสุขนิเทศก์ และคณะผู้บริหารสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 5 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข มาตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนศูนย์คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของวัดหนองวัลย์เปรียง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี โดยมี พระครูใบฎีกาสุรพล มหาปัญโญ เจ้าอาวาส วัดหนองวัลย์เปรียง เจ้าคณะตำบลทุ่งคอก พระกชกร จกฺกวโร พระเลขานุการเจ้าคณะตำบลทุ่งคอก นพ.พลภัทร สุลีสถิระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอสองพี่น้อง พร้อมด้วย คณะ อสม. ประชาชนทั่วไปให้การต้อนรับ และร่วมประชุมการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคเรื้อรัง (NCDs) เพื่อขับเคลื่อนการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ณ ศูนย์คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) วัดหนองวัลย์เปรียง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า คนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคไตเรื้อรัง เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น กินอาหารหวานจัด เค็มจัด ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นอนดึก มีความเครียดสูง เป็นต้น ทำให้เกิดความสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 1.6 ล้านล้านบาท จากค่ารักษาพยาบาลทางตรง และความสูญเสียทางอ้อม โดยข้อมูลปี 2560 ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค NCDs สูงกว่า 62,138 ล้านบาท และมีคนไทยต้องเสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายแก้ไขปัญหา

โดยผลักดันการส่งเสริมสุขภาพ และแนวคิดวิถีชีวิต เพื่อสุขภาพที่ดีไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่างๆ ให้เอื้อในการต่อสู้กับโรค NCDs สนับสนุนแนวคิดสุขภาพดี สิทธิประโยชน์เพิ่ม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs เพื่อลดอัตราการป่วยก่อนเข้าสู่ระบบการรักษาการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากบุคลากรสาธารณสุข และพี่น้อง อสม. ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ในการปรับพฤติกรรม ทั้งการกินอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงาน ด้วยการนับคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรตที่มาจากอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาล รวมถึงมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า ให้ความรู้ อสม. เพื่อประชาสัมพันธ์ส่งต่อให้ความรู้กับประชาชน พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยง และติดตามผลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเป็นลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน และรัฐบาลได้