“ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามสภาพปัญหา ชวนสะท้อนข้อเท็จจริง และสิ่งที่ควรปรับแก้จากปรากฏการณ์นี้กับ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ภาพรวมสถานการณ์คุกคามทางเพศและการข่มขืนว่า เด็กและเยาวชนยังเป็นผู้เสียหายกลุ่มหลัก ที่ผู้กระทำมักเป็นคนใกล้ตัว และอยู่ในสถานะที่มีอำนาจเหนือกว่า

เช่น คนในครอบครัว ญาติ ครู พระ เหตุที่ลงมือก็เพราะมองเป็นกลุ่มที่มีอำนาจน้อยกว่า ไม่กล้าปริปาก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ที่น่าสนใจคือ มีผู้เสียหายที่เป็นกลุ่มเด็กชายเพิ่มขึ้น

ส่วนกรณี “ผู้สูงอายุ” วิเคราะห์ปัจจัยเกี่ยวข้องคือ อยู่ในภาวะโดดเดี่ยว ไร้คนดูแล หรือบางช่วงไม่มีคนอยู่ด้วย ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่อยู่ลำพัง เมื่อถูกกระทำจึงมักไม่กล้าขอความช่วยเหลือ อีกทั้ง “มายาคติ” ที่คิดกันว่า ผู้สูงอายุเป็นวัยไม่มีแรงขับเคลื่อน หรือดึงดูดทางเพศ แม้อยู่คนเดียวก็ไม่อันตราย ยิ่งทำให้เมื่อถูกกระทำแล้วยิ่งไม่กล้าพูด เพราะกลัวว่าคนจะไม่เชื่อ ประกอบกับเป็นวัยที่อาจไม่มีอำนาจ ไม่มีปากเสียงในครอบครัว จึงเลือกจะเงียบ ไม่แจ้งความ กลายเป็นเงื่อนไขให้ถูกกระทำง่ายขึ้น

“คนกระทำเข้าใจว่ากระทำกับคนที่ไม่มีอำนาจ หรือมีอำนาจน้อยกว่า มองว่าผู้สูงอายุป้องกันตัวเองไม่ได้ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแจ้งความ เชื่อว่าคนสูงอายุช่วยเหลือตัวเองไม่ได้”

นายจะเด็จ ระบุ แม้ตัวเลขปรากฏไม่มาก แต่เชื่อว่าข้อเท็จจริงมีมากกว่าที่เห็น เพียงแต่มายาคติและกลไกสังคมทำให้ไม่กล้าบอกเล่า ประเด็นนี้สร้างข้อกังวลไปถึงสุขภาพจิตที่อาจเกิดภาวะป่วยซึมเศร้า กลายเป็นปัญหาที่ผู้ถูกกระทำเงียบด้วยตัวเอง โดยสังคมเป็นตัวกำหนดให้ไม่กล้าพูด เหมือนถูก “ปิดปาก” โดยปริยาย

ยกตัวอย่าง กรณีแม่บ้านสูงอายุรายหนึ่งถูกนายจ้างกระทำ กว่าจะตัดสินใจบอกคนที่บ้านก็นานมาก มีการขอคำปรึกษากับมูลนิธิฯ แต่สุดท้ายไม่คิดแจ้งความ สะท้อนชัดว่าผู้สูงอายุไม่คิดว่าต้องปกป้องตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีใครสนใจ ทำให้การเข้าแจ้งความในกลุ่มผู้เสียหายสูงวัยไม่ง่าย

นายจะเด็จ แนะสิ่งที่น่าจะช่วยได้ในเรื่องนี้คือ สังคมต้องยอมรับการถูกกระทำทางเพศไม่ว่าใครก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อ ไม่เกี่ยวกับวัย หรือสรีระ แต่เป็นเรื่องการใช้อำนาจมากกว่า ไปกระทำกับคนที่ตัวเองรู้สึกว่ามีอำนาจน้อยกว่า

กรณีผู้สูงอายุคือ คิดว่าไม่มีปากเสียง ต่อรองไม่ได้ เอาผิดไม่ได้ ซ้ำบางรายติดเตียง เมื่อถูกข่มขู่ก็ไม่มีทางสู้ เหตุข่มขืนผู้สูงอายุนับสิบคดีที่ จ.นครราชสีมา เป็นสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ว่าไม่สามารถปล่อยผู้สูงอายุอยู่ลำพัง เพราะคิดว่าไม่อันตราย แม้เข้าใจว่าทุกวันนี้หลายครอบครัวจำเป็นต้องให้อยู่ลำพัง หรืออยู่คนเดียวบางเวลา

พร้อมเสนอการเพิ่มบทบาทชุมชนที่มี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อยู่แล้ว นอกเหนือดูแลสอบถามถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ ควรเพิ่มเรื่องที่อาจถูกคุกคามทางเพศไปด้วย เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังอย่างจริงจัง

“คนที่ทำรู้ว่าอยู่คนเดียว บางคนสภาพร่างกายยังไหวก็ออกไปทำงาน แต่ลืมว่ามีคนจ้องคุกคามได้ คนในครอบครัวและชุมชนต้องช่วยกัน หรืออาจมีพื้นที่ให้พูดเรื่องแบบนี้มากขึ้น ต้องสร้างพื้นที่ละเอียดอ่อนให้กล้าพูดได้ อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ต้องมองว่าเป็นปัญหาแล้ว”

นอกจากนี้ เสนอใช้กลไกโซเชียลมีเดีย ให้ผู้สูงอายุที่ใช้เป็นได้มีช่องทางร้องทุกข์ หรือเฝ้าระวัง ช่วยเหลือกันเองได้อีกทางหนึ่ง หรือหากมีศักยภาพมากพอ อาจติดกล้องวงจรปิดในชุมชน หรือบ้านพัก เพื่อใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยดูแล เพราะต้องยอมรับเมื่อเกิดเหตุกับผู้สูงอายุมีหลายปัจจัยเป็นอุปสรรคในการเอาผิด ทั้งไม่กล้าพูด ทำให้ถูกกระทำซ้ำ หรือช่วงวัยที่มีผลต่อการจดจำใบหน้า หรือรายละเอียดหลักฐานอื่นๆ หลายกรณีถูกกระทำช่วงกลางคืน ทำให้จดจำได้ยาก

นายจะเด็จ สะท้อนแนวโน้มน่ากังวลรูปแบบแบบครอบครัวที่มีเงื่อนไขชีวิตเปลี่ยนไป เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ประกอบกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ดังนั้น ถึงเวลาต้องตื่นตัวกับปัญหาจริงจัง

“ปัญหาผู้สูงอายุไม่ใช่แค่สุขภาพ เศรษฐกิจ หรือการมีงานทำเพียงอย่างเดียว ปัญหาถูกคุกคามทางเพศควรต้องให้ความสนใจมากขึ้นได้แล้ว” นายจะเด็จ ทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน