สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ว่า ในเวลาเพียง 5 วัน มีรายงานความรุนแรงนองเลือดเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 แห่งของโคลอมเบีย ตั้งแต่ป่าแอมะซอนอันห่างไกลทางตอนใต้ ไปจนถึงพรมแดนติดกับเวเนซุเอลา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งการสู้รบทำให้มีผู้พลัดถิ่นเกือบ 20,000 คน
นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ความรุนแรงข้างต้นมีสาเหตุมาจากสงครามแย่งชิงอิทธิพล ระหว่างกลุ่มติดอาวุธที่เป็นคู่แข่งกัน ซึ่งพวกเขามองว่า กระบวนการสันติภาพเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นหนึ่งเดียว และผลกำไรจากการค้าขายโคเคน
ขณะที่ประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ผู้นำโคลอมเบีย ส่งสัญญาณว่า วิกฤติครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และออกคำเตือนถึงบรรดาผู้นำของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ (อีแอลเอ็น) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีกลุ่มฝ่ายซ้ายที่เป็นคู่แข่ง ในพื้นที่ชายแดน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 80 ราย
“อีแอลเอ็นเลือกเส้นทางสู่สงคราม และพวกเขาจะต้องเจอกับสงคราม” เปโตร กล่าวเพิ่มเติม ก่อนประกาศสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ และภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การประกาศสถานการณฉุกเฉินของรัฐบาลโบโกตา ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจในการจำกัดความเคลื่อนไหวของประชาชน รวมถึงใช้มาตรการอื่น ๆ อีกทั้งทางการโคลอมเบียยังส่งทหารประมาณ 5,000 นาย ไปประจำการในพื้นที่ชายแดน โดยหวังว่าจะควบคุมความรุนแรงครั้งเลวร้ายที่สุดของโคลอมเบีย ในรอบหลายปีได้
ล่าสุด กระทรวงกลาโหมโคลอมเบียรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกราว 20 ราย จากการสู้รบระหว่างกลุ่มฝ่ายซ้ายที่เป็นคู่แข่งกัน ในพื้นที่ป่าแอมะซอน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตจนถึงขณะนี้ อยู่ที่อย่างน้อย 100 ราย.
เครดิตภาพ : AFP