เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 28 ม.ค. นายพรพรหม วิกฤติเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และเจ้าหน้าที่จากกองตรวจการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่อู่รถเมล์ ขสมก. บางเขน เพื่อตรวจวัดมลพิษจากควันดำปลายท่อไอเสียรถโดยสารสาธารณะ

นายพรพรหม กล่าวว่า กทม.ได้ดำเนินมาตรการตรวจจับและห้ามใช้รถควันดำอย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่แหล่งกำเนิด โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 65 จนถึงปัจจุบันมียอดตรวจไปแล้วกว่า 260,000 คัน จับแล้ว 3,000-4,000 คัน ไม่ใช่มาตรวจเฉพาะฤดูฝุ่น ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ได้ทำการตรวจไปยังต้นกำเนิดฝุ่น เช่น อู่รถเมล์ ไซต์งานก่อสร้าง สถานประกอบการ เป็นต้น แต่การตรวจในครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงการวัดค่ามลพิษจากรถโดยสารเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสื่อสารข้อเรียกร้องสำคัญถึงรัฐบาล เพื่อขอเพิ่มอำนาจให้ กทม. จัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย กทม. ได้เสนอข้อเรียกร้องสำคัญของ กทม. คือ

1.เพิ่มอำนาจตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ เพื่อให้ กทม. มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ สามารถจัดการกับรถที่ปล่อยมลพิษได้ทันที เช่น การพ่นข้อความห้ามใช้โดยไม่ต้องรอกรมการขนส่งทางบกดำเนินการ เพราะปัจจุบันรถที่มีมากกว่า 4 ล้อ อยู่นอกเหนืออำนาจของ กทม. หรือการตรวจจับรถ 6 ล้อขึ้นไป 2.ปรับเกณฑ์ความทึบแสงลงให้อยู่ในระดับที่เข้มงวดขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน กฎหมายกำหนดให้ค่าความทึบแสงไม่เกิน 30% ซึ่ง กทม.มองว่ายังสูงเกินไปและยังคงสร้างมลพิษ PM 2.5 ได้ ดังนั้นจึงเสนอให้ลดลงเหลือ10% รวมถึงให้ กทม.มีอำนาจกำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสมเอง

3. ลดระยะเวลาการแก้ไขรถปล่อยมลพิษ ปัจจุบันเมื่อตรวจพบรถที่ปล่อยมลพิษแต่อำนาจของ กทม. สามารถติดสติกเกอร์ห้ามใช้รถชั่วคราว และให้เวลากว่า 30 วันในการแก้ไข แต่ระยะเวลาดังกล่าวนานเกินไป และอาจเพิ่มผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลาดังกล่าว กทม. จึงขอเสนอให้ลดระยะเวลาการแก้ไขเหลือ 5-7 วัน และในอนาคตอาจลดลงอีกให้เหลือ 1-2 วัน

ซึ่งนอกเหนือจากข้อเรียกร้องดังกล่าว กทม. ยังอยู่ระหว่าการหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดในมิติอื่น ๆ นอกจากความทึบแสง เนื่องจากรถดีเซลเป็นแหล่งปล่อย PM 2.5 ที่สำคัญ ขณะเดียวกันรถเบนซินก็สามารถสร้างฝุ่น PM 2.5 ในรูปแบบฝุ่นทุติยภูมิได้ กทม.จึงอยากรณรงค์ให้รถเบนซินเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเครื่องเพื่อลดฝุ่นในระยะยาว

ด้านนายประสาท ครามบุตร ผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 1 ของ ขสมก. กล่าวเสริมว่า ในอนาคต ขสมก. มีแผนปรับเปลี่ยนรถโดยสารจากระบบใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษและพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ยั่งยืนในอนาคต ตามนโยบายของรัฐบาล.