เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการปรับปรุงและทบทวนเรื่องการสอบ RT, NT, O-NET ให้เชื่อมโยงกับการสอบ PISA ซึ่งหากทั้งหมดเชื่อมโยงกัน เท่ากับเราได้เตรียมพร้อมให้เด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา จะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยมอบหมายให้สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. ดำเนินการต่อไป ส่วนประเด็นที่ ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งพัวพันคดีค้ายาเสพติด แล้วอ้างว่าเคยไปเป็นนายประกันให้ผู้ต้องหาคดียาเสพติด จึงได้สนิทกันและนำยาเสพติดมากระจายต่อ จากการตรวจสอบไปยังศาล พบว่าไม่ได้เกี่ยวข้องตามที่เป็นข่าว แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้ ผอ.คนดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อน โดยเรายึดตามแนวทางที่ว่า หากพบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกตำแหน่ง ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ต้องให้ออกจากราชการทันที และดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้รับรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งสพฐ.ได้กำชับมาตรการป้องกันไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาล่วงหน้าแล้ว หากพื้นที่ใดเป็นพื้นที่สีส้มหรือสีแดงที่อยู่ในขั้นอันตราย ให้ผอ.สามารถปิดโรงเรียนได้ทันที และหารูปแบบการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นเข้ามาชดเชย รวมถึงหามาตรการดูแลช่วยเหลือเด็กและครู หากเกิดอาการเจ็บป่วยจากฝุ่น PM 2.5 ด้วย ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีโรงเรียนที่ปิดเรียนจำนวน 57 โรงเรียน และในอีกหลายจังหวัด แต่โชคดีว่าเมื่อวานกับวันนี้สภาพอากาศเปิด สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น แต่หลังจากนี้ก็จะมีการประชุมเตรียมความพร้อมเรื่องการจัดการเรียนการสอน หากค่าฝุ่น PM 2.5 สูงมากกว่าปกติ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเข้ามาแก้ไขเพิ่มเติม อย่างเช่นการ Work from home ซึ่งทาง สพฐ. เองก็ได้เตรียมแผนรับมือในเรื่องนี้และพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลโดยทันที
“ส่วนประเด็นการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน ขณะนี้ได้มอบให้สำนักที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยมาพูดคุยหารือแนวทางร่วมกัน หากเราเลื่อนการเปิดภาคเรียนแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น การแก้ไขระเบียบการนับอายุเด็ก ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ หรือทุกระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนเรื่องการวัดผลหรือการนับเวลาเรียน สามารถไปแก้ไขในประกาศกระทรวงศึกษาธิการได้ ทั้งนี้ การเลื่อนเปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับปีงบประมาณ จะส่งผลให้การย้ายครู-ผู้บริหารโรงเรียน การจัดทำผลการเรียนของนักเรียน หรือการจัดสรรค่าอาหารกลางวันนักเรียน ทุกอย่างจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหากทุกฝ่ายเห็นชอบตรงกัน สพฐ. จะส่งเรื่องเสนอให้ รมว.ศธ. ลงนามเรื่องนี้โดยด่วน เพื่อให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว