นายพงศกร จุลละโพธิ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 127,501.0523 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2567 ที่ได้รับงบฯ 121,695.2443 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 5,805.8080 ล้านบาท หรือประมาณ 4.8%  

มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ 104 โครงการ จำนวน 143 รายการ วงเงินรวม 98,420 ล้านบาท เป็นงบผูกพัน 3 ปี (2568-2570)  ประกอบด้วย การก่อสร้างทางแนวแนวใหม่ ระยะทาง 1.950 กม., ก่อสร้างขยายช่องจราจร (จาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร, จาก 4 เป็น 6 ช่องจราจร) ระยะทาง 695.384 กม. ปรับปรุงถนนเดิม (บูรณะทางหลวง, เพิ่มมาตรฐานชั้นทาง, ทางแยกต่างระดับ รูปแบบสะพาน-ทางลอด-วงเวียน) ระยะทาง 216.091 กม. แยกเป็นวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท 136 รายการ วงเงินรวม 89,950 ล้านบาท  และวงเงิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป 7 รายการ รวม 8,470 ล้านบาท ระยะทางรวม 925.200 กม.

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้มีโครงข่ายทางหลวงเพิ่มขึ้นเป็น 52,343.77 กม. (เดิม 52,341.820 กม.+แนวใหม่ 1.950 กม.) และมีทางขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไปเพิ่มเป็น 20,607.113 กม. (เดิม 19,911.730 กม.+ขยายเพิ่ม 695.384 กม.)

ทั้งนี้สำหรับโครงการบำรุงทางได้รับจัดสรร 1,496 รายการ วงเงินรวม 24,837.3806 ล้านบาท เป็นงานซ่อมแซมบำรุงรักษาทางหลวง 1,374 รายการ วงเงินรวม 24,157.0327 ล้านบาท งานซ่อมแซมบำรุงรักษาสะพาน 122 รายการ วงเงินรวม 680.3479 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2568 วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท รวม 7 โครงการประกอบด้วย 

1.ทางแยกต่างระดับ (สะพาน+ทางลอด) จุดตัด ทล. 4 ตัด ทล.3201 ตัด ทล.3180 ตัด ทล.3181 (แยกปะทิวและแยกท่าแซะ) จ.ชุมพร 1,600 ล้านบาท

2.ก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ สาย บ.เมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบิน จ.ภูเก็ต งบประมาณ 1,300 ล้านบาท

3.ทล.361 สายทางเลี่ยงเมืองชลบุรี ตอน จุดตัดถนนบ้านสวน หนองข้างคอก-จุดตัด ทล.3 จ.ชลบุรี 1,300 ล้านบาท

4.ทล.311 สาย แยกศาลหลักเมือง-แยกไกรสรราชสีห์ จ.สิงห์บุรี 1,100 ล้านบาท  

5. ทล.42 สาย คลองแงะ-จุดผ่านแดนถาวรสุไหงโก-ลก ตอน บ.ควนหมาก-อ.โคกโพธิ์ ตอน 1 จ.สงขลา 1,100 ล้านบาท 

6.ทางแยกต่างระดับ (สะพาน+อุโมงค์) จุดตัด ทล.226 กับ ทล. 231 (แยกคำน้ำแซบ) จ.อุบลราชธานี 1,050 ล้านบาท

7.ทล.3 สายระยอง-บ้านเพ ตอน 1 จ.ระยอง 1,020 ล้านบาท  

นอกจากนี้ในงบปี 2568 มีโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ รวมทั้งสะพานข้ามทางรถไฟรวมประมาณ 30 แห่ง

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า กรมทางหลวงนับเป็นหน่วยงานระดับกรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย (จากทั้งหมด 305 กรม) ได้รับงบประมาณมากที่สุด โดยงบประมาณของกระทรวงคมนาคมในแต่ละปีกว่า 2 แสนล้านบาท กรมทางหลวงได้รับจัดสรรมากกว่า 50% ปัจจุบันมีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย เป็นอธิบดีกรมทางหลวง คนที่ 34 จะเกษียณอายุราชการ ก.ย. ปี 2568 สร้างความฮือฮาด้วยป้ายตำแหน่งอธิบดีใหญ่มาก