เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม มีพิธีปฐมนิเทศพระนิสิตทุนพระราชทาน โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปีการศึกษา 2567 โดยมี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี เป็นประธาน ทั้งนี้ นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี กรรมการและเลขาธิการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย กล่าวรายงาน ว่า ตามที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนการศึกษาถวายแด่ พระภิกษุและสามเณร ประจำปีการศึกษา 2567 ได้แก่ ทุนศึกษาบาลี ในระดับเปรียญธรรม 6 ประโยค จำนวน 49 ทุน และทุนระดับอุดมศึกษา ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) รวมจำนวน 350 ทุน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในพิธีถวายทุนการศึกษาพระราชทาน แด่ พระภิกษุและสามเณร ที่ได้รับพระราชทานทุนดังกล่าว ในวันที่ 7 ก.พ. ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ นั้น โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย จึงได้จัดพิธีปฐมนิเทศขึ้น เพื่อให้พระนิสิตทุนพระราชทานที่ได้เข้ารับการถวายทุนพระราชทานดังกล่าว มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติ และความเป็นมาของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปฏิบัติในระหว่างรับทุน และเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างพระนิสิตทุนกับโครงการฯด้วย


จากนั้นนายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวปฐมนิเทศ และบรรยายพิเศษเกี่ยวกับประวัติ และความเป็นมาของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย โดยมีตอนหนึ่ง นายเกษม กล่าวว่า จากการสอบถามทาง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทราบว่า ตั้งแต่มีการดำเนินการโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2547 เกิดผลดีต่อคณะสงฆ์ อย่างไรก็ตาม อยากฝากให้พระสงฆ์ที่ได้รับทุนจากโครงการนี้ หาแนวทางในการเข้าไปสอนธรรมะให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนด้วย เพราะปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้มีการดำเนินการโครงการให้พระเข้าไปสอนศาสนา ธรรมะ ศีลธรรม ในโรงเรียนแล้ว และมองว่าทางโครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ อาจจะต้องเข้าไปดำเนินการเอง เพราะว่าการสอนธรรมะในโรงเรียนให้เด็กนักเรียนมีศีลธรรมนั้น เป็นเรื่องสำคัญ


ด้านพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ปาฐกถาธรรมพิเศษ ตอนหนึ่งว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีต เพื่อให้พระสงฆ์ได้ศึกษา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ โดยเฉพาะในเรื่องปริยัติ เป็นการศึกษาพระไตรปิฎก ทั้งยังเป็นตัวตรวจสอบ และเป็นหลักในการดำรงอยู่ของพระพุทธศสนาด้วย เพราะเมื่อศึกษาปริยัติแล้ว ก็สามารถปฏิบัติ และปฏิเวธ ให้บริบูรณ์ได้ จึงเป็นเหตุผลที่สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงให้การอุปถัมภ์ในเรื่องปริยัติธรรม เพราะเป็นการศึกษาพระไตรปิฎก ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนาคงอยู่ ไม่สูญหาย อีกทั้งเป็นการสร้างศาสนทายาท เผยแผ่พระพุทธศาสนา และส่งเสริมการศึกษาให้เด็ก เยาวชนด้วย