นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้จัดงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 เมกะเฮิรตซ์ 1500 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์  2100 เมกะเฮิรตซ์ 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกกะเฮิรตซ์ และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุฯ ที่เกี่ยวข้องโดยการประมูลรั้งนี้ มีคลื่นความถี่รวม 450 เมกะเฮิรตซ์ คาดว่าจะได้ราคาประมูลมากกว่า ราคาขั้นต่ำ ที่ 1.2 แสนล้านบาท และ คาดว่าจะจัดประมูลได้ในเดือน พ.ค.นี้

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส มีความพร้อมและสนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านที่ กสทช. เตรียมเปิดประมูลในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้  โดยอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลนั้น พิจารณาราคาคลื่นความถี่ ที่นำออกมาประมูลให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งหากราคาคลื่นอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ย่อมส่งผลดีต่อการหนุนให้เกิดการลงทุนขยายโครงข่ายสัญญาณให้ครอบคลุมและประชาชนคือผู้ได้รับประโยชน์นั้น โดย ในส่วนคลื่นความถี่ส่วนคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นย่านความถี่หลักของ 5จี ระดับสากล ถ้ากสทช. มีแผนจะนำออกมาประมูลในรอบนี้ ก็มีความสนใจ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการประมูลล่วงหน้า แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าจะนำมาร่วมประมูลในรอบนี้หรือไม่

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์  หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูล ที่ กสทช. นำมารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัท เห็นว่ามีประเด็นที่ควรปรับปรุงเพื่อมุ่งส่งเสริมให้กระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การจัดให้มีประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านพร้อมกัน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างความโปร่งใสจากการประมูล โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลคลื่นความถี่ได้ทุกย่านพร้อมกันและลดข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนในขั้นตอนการประมูล

จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์

นอกจากนี้ เห็นว่าราคาขั้นต่ำ แม้ว่าจะเป็นราคารที่ต่ำกว่าในอดีตแต่ยังสูงกว่าราคาเฉลี่ยของคลื่นความถี่ในย่านเดียวกันในต่างประเทศมาก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ กสทช. ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้มากเท่าที่ควร และทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติ ประกอบกับเงื่อนไขการชำระเงินที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และปั่นทอนความสามารถในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม โดยกำหนดให้ต้องชำระค่าคลื่นความถี่ 50% ตั้งแต่งวดแรก (ก่อนรับใบอนุญาต) จึงเสนอให้แบ่งชำระค่าคลื่นความถี่เป็น 10 งวดเหมือนการประมูลครั้งที่ผ่านมา