“ชุมชนเมืองเดลินิวส์” พูดคุยกับ พญ.วีรนุช เชาวกิจเจริญ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์หัวหน้ากลุ่มงานอาชีวเวชกรรม รพ.กลาง สังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ถึงวิธีตรวจเช็คร่างกายตนเองว่า อาการที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ใช่เกิดจากการแพ้ฝุ่นPM2.5 หรือไม่ และวิธีดูแลตนเองให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงในภาวะที่ฝุ่นยังคงอยู่รอบตัวเรา

พญ.วีรนุช ระบุว่า สำหรับอาการที่น่าสงสัยว่าอาจเจ็บป่วยหลังสัมผัสฝุ่นโดยตรง แนะนำประชาชนสังเกต 3 ระบบในร่างกายของตนเอง คือ1.ระบบทางเดินหายใจ เช่น จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลมากกว่าปกติ ไอ จามหรือในบางคนที่เป็นโรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง ก็จะมีอาการกำเริบมากขึ้น 2.ระบบผิวหนัง โดยเฉพาะในบางคนที่สัมผัสฝุ่นโดยตรงจะเกิดผื่นบนผิวหนัง หรือผื่นลมพิษได้ และ 3.ระบบตา อาจจะมีการระคายเคืองตา คันตา เยื่อบุตาอักเสบ

ซึ่งอาการเหล่านี้ก็สามารถเกิดจากฝุ่นได้และจะแสดงเป็นอาการเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นเมื่อเราสัมผัสฝุ่นพิษโดยตรง ซึ่งปัจจุบันคนก็จะตระหนักในเรื่องของอาการเฉียบพลัน เพราะเกิดขึ้นทันที แต่ในเรื่องของอาการสะสมหรือเรื้อรังจากฝุ่นนั้น จะเป็นเรื่องของการเพิ่มความเสี่ยงในโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงเป็นสารก่อมะเร็งด้วย ทั้งนี้ หากใครยังไม่มีอาการเฉียบพลันก็ควรระมัดระวังสุขภาพด้วย เพราะสามารถทำให้เกิดอาการต่างๆในระยะยาวได้

ทั้งนี้ หากมีอาการระคายเคืองเล็กน้อยเช่น ไอ จาม มีน้ำมูก สามารถปฐมพยาบาลด้วยตัวเองและหลีกเลี่ยงการสัมผัส แต่ในส่วนของระบบทางเดินหายใจ ถ้าหากเริ่มหายใจมีเสียงหวีด หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรังอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์ ส่วนรายใดที่มีผื่นคัน หรือ ผื่นลมพิษขึ้นทั่วตัวและมีอาการแน่นหน้าอกร่วมด้วย แนะนำให้พบแพทย์ และในอาการภาวะเฉียบพลันที่เกิดขึ้น หากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้นก็แนะนำควรมาพบแพทย์ด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนการดูแลเด็กในช่วงที่ฝุ่นPM2.5 มีค่าสูงหรือหนาแน่นนั้น พญ.วีรนุช ระบุว่า เนื่องจากเด็กเล็กกลุ่มเสี่ยงโดยกลุ่มเสี่ยง ประกอบไปด้วย เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เกี่ยวกับหัวใจและปอด ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังกว่าคนอื่น อาการต่างๆที่เกิดกับเด็กเล็กนั้นก็จะมีในลักษณะเดียวกันกับผู้ใหญ่ ทั้งเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น คันจมูกโดยใช้มือถูหรือขยี้บริเวณจมูกมากกว่าปกติ มีน้ำมูกตลอดเวลา ไอ จามมากกว่าปกติและในบางคนหายใจอาจมีเสียงหวีด หรือหายใจแล้วใช้กล้ามเนื้อบริเวณท้องหรือซี่โครงมากขึ้น แนะนำให้ผู้ปกครอง พาเด็กไปพบแพทย์ รวมทั้งเรื่องผื่นผิวหนังและอาการระคายเคืองตาก็จะพบได้ในเด็กเล็กเช่นเดียวกัน

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กนั้น หากดูสถานการณ์ภายนอกมีฝุ่นเยอะหรือฝุ่นหนาแน่น หรือดัชนีคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอยู่ในระดับสีส้ม และสีแดง ควรระมัดระวังกิจกรรมที่อยู่กลางแจ้งหลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสกับฝุ่นโดยตรง หรือในเด็กที่มีโรคประจำตัว หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับคุณภาพปานกลาง ก็ควรจะต้องระมัดระวังด้วยเช่นเดียวกัน
ส่วนการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นในเด็กเล็กนั้น ปัจจุบันมีหน้ากากสำหรับเด็ก มีหลากหลายชนิดและหลากหลายรูปแบบ หากใส่ก็จะช่วยลดการสัมผัสกับฝุ่นได้โดยตรงเหมือนกับผู้ใหญ่ แต่หากหลีกเลี่ยงการสัมผัสได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ส่วนคำถามที่หลายคนสงสัยถึงอาการเลือดกำเด่ไหลในช่วงที่ค่าฝุ่นPM2.5 สูงในระยะที่ผ่านมานั้น พญ.วีรนุช ระบุว่า โดยปกติการเกิดเลือดกำเดาไหล เกิดได้จากหลายสาเหตุซึ่งการสัมผัสฝุ่น ก็ถือว่าเป็นสาเหตุหนึ่งได้เหมือนกัน ถ้าหากไม่เคยมีอาการนี้มาก่อน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีเลือดกำเดาไหล ก็คือเยื่อบุโพรงจมูก สัมผัสโดนฝุ่นด้วยการสูดดมหรือหายใจเข้าไป ปฏิกิริยาของร่างกายก็พยายามจะขับออกมา
ในกรณีนี้บางคนก็จะมีน้ำมูกมากขึ้น เยื่อบุโพรงจมูกมีอาการบวม หรือมีอาการอักเสบ เวลามีอาการไอหรือจาม หรือบางคนขยี้ แคะที่บริเวณจมูกก็จะทำให้เส้นเลือดบริเวณนั้นแตก และเกิดเป็นเลือดกำเดาไหล แต่หากใครมีภาวะเลือดกำเดาไหลไม่หยุด ควรเป็นพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ลักษณะสภาพอากาศใน กทม.มีค่าฝุ่น PM2.5 สูง ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมในที่โล่ง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขอแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพในเบื้องต้น นอกจากนี้หากได้รับปัญหาสุขภาพจากฝุ่นนั้น สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่

คลินิกมลพิษทางอากาศได้ โดยปัจจุบันมีการให้บริการทั้งสิ้น 8 แห่ง ดังนี้ 1.โรงพยาบาลกลาง เปิดให้บริการทุกวันอังคาร และวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 12.00 น. 2.โรงพยาบาลตากสิน เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-วันศุกร์ (ยกเว้นวันพุธและวันหยุดราชการ) ตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น. 3.โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เปิดให้บริการทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 13.00 – 15.00 น.
4.โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ เปิดให้บริการทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 08.00 – 12.00 น. 5.โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ เปิดให้บริการทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 น. 6.โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. 7.โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. และ 8.โรงพยาบาลสิรินธร เปิดให้บริการทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 น.
ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน