เมื่อวันที่ 8 ก.พ. นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการใช้สีผสมอาหารในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันมีการอนุญาตให้ใช้สีผสมอาหารอยู่หลายสี ถ้าในสากลก็มีการอนุญาตมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว เพียงแต่ในส่วนของชาไทย ที่นิยมคือ sunset yellow FCF ที่จริงมีสีอื่นด้วย ทั้งนี้กรณีของ “ชา” นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1. ใบชา ที่มาจากธรรมชาติ จะไม่อนุญาตให้ใส่สีผสมอาหารลงไป และ 2. ชาผงปรุงสำเร็จ จะอนุญาตให้ใส่สีผสมอาหารได้ เช่น sunset yellow FCF เบอร์ 6 จะอนุญาตให้ผสมได้ไม่เกิน 100 ppm ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารสากล หรือ CODEX ซึ่งทั่วโลกก็อิงที่ปริมาณไม่เกิน 100 ppm เช่นกัน

“เพื่อความปลอดภัย แน่นอนว่า อาหารทุกอย่างหากมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย อันนี้ก็เหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าถ้าเกิน 100 ppm แล้วจะเป็นอันตรายทันที แต่ถ้าน้อยกว่า 100 ppm ก็ค่อนข้างปลอดภัย ไม่เหมือนกับการกินยา ซึ่งจะมีระดับที่อาจจะเกิดอันตรายใกล้เคียงกับระดับบที่เกิดความปลอดภัย แต่อาหารนั้นไมใช่ ไม่ได้หมายความว่าเกิน 100 แล้วจะอันตรายทันที ซึ่งความไม่ปลอดภัยจากสารแต่ละตัวก็แตกต่างกัน บางอย่างใส่มากเกินไปก็อาจจะทำให้เวียนหัว คลื่นไส้ได้” นพ.สุรโชค กล่าว

เมื่อถามว่า ในส่วนของ sunset yellow FCF ในชาไทยนั้น ทางเราเฝ้าระวังผลที่อาจจะก่ออันตรายกับสุขภาพอย่างไรบ่างนพ.สุรโชค กล่าวว่า ตอนนี้ก็ไม่ได้ระวัง เพียงแต่หากไปดูตัวนี้อาจจะมีการรายงาน หรือมีการถกเถียงกันว่า ทำให้เกิดสมาธิสั้น ซึ่งยังไม่มีข้อมูลยังยืนว่าทำให้เกิดสมาธิสั้นจริงๆ อย่างที่บอกว่า ไม่ได้หมายความว่า มีส่วนผสมเกิน 100 ppm แล้วจะเกิดอันตราย ดังนั้นการที่บอกว่า ทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง หรือโรคบางอย่างนั้น มี 2 อย่าง คือ เกิดจริง หรือเกิดในการทดลองบางอย่าง ซึ่งกรณีที่เกิดจริง อย่างที่ตนอธิบายว่า ได้รับปริมาณมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ ซึ่งในเมืองไทยยังไม่มีรายงานตรงนี้ และเราไม่ได้ดูข้อมูลแค่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่เรื่องความปลอดภัยทางอาหารนั้น จะมีสมาคม หรือองค์กรระหว่างประเทศที่ส่งข้อมูลถึงกันอยู่ตลอด หากมีการกำหนดมาฐานอะไรบางอย่าง หรือประเทศใดเจอผลกระทบอะไร ก็จะมีการส่งรายงานถึงกัน

เมื่อถามเนื่องจากเรื่องนี้กำลังเป็นกระแสข้อกังวลของผู้บริโภค ทาง อย. มีการดำเนินการอะไรหรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า เรื่องสมาธิสั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า สิ่งนี้ทำให้เกิดสมาธิสั้น แต่มีรายงานบางอย่างที่เกิดความสงสัย แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรยืนยันว่า สารตัวนี้ทำให้เกิดสมาธิสั้น ส่วนประเด็นที่เรากำหนดมาตรฐานไว้ที่ไม่เกิน 100 ppm นั้น ทาง อย. มีการสุ่มตรวจชาผงปรุงสำเร็จเป็นระยะๆ ทุกปี แต่ส่วนใหญ่จะไม่เกินในเรื่องสี ไม่ว่าจะเป็น sunset yellow FCF หรือสีอื่นๆ ที่อาจจะผสมลงไป โดย 4-5 ปีย้อนหลัง ยังไม่พบผิดปกติเรื่องสี แต่อาจมีการผิดมาตรฐานหัวข้ออื่น เช่น สารโลหะหนักบางชนิดปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ทาง อย. ก็ได้ดำเนินการทางกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว  

เมื่อถามต่อว่า มีข้อมูลว่าทางสหภาพยุโรปมีการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ sunset yellow FCF นพ.สุรโชค กล่าวว่า ต้องไปดูประเภทอาหาร เพราะถ้าเป็นใบชา เมล็ดกาแฟ ของไทยเองก็ไม่อนุญาตให้ใส่เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ประชาชนที่ซื้อใบชามาชง ก็ต้องได้สีจากธรรมชาติ ซึ่งกฎหมายก็คล้ายๆ กัน แต่หากเป็นชาปรุงแต่งจะอนุญาตอย่างที่บอก

นพ.สุรโชค กล่าวว่า เพื่อความปลอดภัย เราบริโภคอาหารในปริมาณที่พอดี อย่างที่ว่า เรากำหนดว่าสามารถเติมสีผสมอาหารได้ไม่เกิน 100 ppm แต่หากรับประทานในปริมาณหลายแก้วต่อวัน ก็อาจจะได้รับสารนี้เยอะ แต่ไม่ได้บอกว่าจะเกิดอันตราย แต่กับบางคนรับประทานมาก อาจเกิดการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ เป็นต้น หรือสารบางอย่าง อาจจะไม่ใช่เรื่องสีเท่านั้น หากเรารับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทปรุงแต่งมากเกินไป แม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ถ้าบริโภคมากเกินไป ก็อาจจะได้รับกาเฟอีนมากเกินไป ดังนั้นให้บริโภคตามคำแนะนำ เช่น ไม่เกิน 1-2 แก้ว แล้วแต่ประเภท ส่วนเด็กเล็กไม่ควรรับประทาน โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 6 ขวบ.