เมื่อวันที่ 10 ก.พ.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังปรากฏข่าว ครอบครัวเสือโคร่ง แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่ามรดกโลก จ.อุทัยธานี ปรากฏตัวบริเวณชายป่า ริมห้วยทับเสลา สภาพเสือโคร่งมีความอุดมสมบูรณ์ นอนเล่นอยู่ชายป่า คาดว่ามาลงกินน้ำลำห้วยทับเสลา เมื่อวันที่ 5 ก.พ.68 นั้น
สุดว้าว! เปิดใจช่างภาพ เล่าวินาทีดุจฝัน พบ ครอบครัวเสือโคร่ง โชว์ตัวห้วยขาแข้ง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ จุดที่พบเสือโคร่ง แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าห้วยขาแข้ง โดยพบว่าตั้งแต่วันที่ 5-10 ก.พ.68 ได้มีช่างภาพสายป่า และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ พากันไปเฝ้ารอ เพื่อจะมีโอกาสพบเสือโคร่ง สัตว์ป่าคุ้มครอง ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร สักครั้งในชีวิต โดยมีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตวป่าห้วยขาแข้ง จัดกำลังอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยช่างภาพและนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้พบว่า เสือโคร่งครอบครัวนี้ ได้ออกมาเดินด้วยอิริยาบทสบายๆ ในระยะห่างจากช่างภาพและนักท่องเที่ยวกว่า 200 เมตร และออกมาเดินเป็นระยะ ตั้งแต่เวลา 07.30 น. ครั้งหนึ่ง และตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป จนถึงเวลา 18.00 น. พร้อมกับมีกลิ่นซาก ที่คาดว่าครอบครัวเสือโคร่งได้ล่าเป็นอาหาร กลิ่นลอยโชยมาจากในป่ารกทึบ โดยเสือโคร่งครอบครัวนี้ที่มีประมาณ 5 ตัว ใช้เวลากินซาก ราว 1 สัปดาห์ กระทั่งซากหมด โดยมีการยืนยันว่า เสือโคร่งครอบครัวนี้ คือ ครอบครัวของแม่ผกา เสือโคร่งพี่น้องคอกเดียวกันกับเสืออภิญญา แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าห้วยขาแข้ง

ขณะที่ เพจ Thailand Tiger Project DNP ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ระบุว่า คอกสองของแม่ผกาเอิกเกริก ครึกโครม ตื่นเต้น ดีใจ ฮือฮา คืออารมณ์ความรู้สึกของเหล่าคนรักเสือ รักสัตว์ป่า เมื่อได้เห็นภาพเสือโคร่งที่บันทึกได้จากชายป่าห้วยขาแข้งเชื่อมต่อเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ โดยช่างภาพมือเฮงแห่งยุคดิจิตัลแอดมินเองก็ได้เห็นภาพตั้งแต่วันแรกๆ ที่มาเพียงตัวเดียว และให้ข้อมูลไปว่าไม่ได้มีเพียงตัวเดียวแน่

ผ่านไปสองวันก็มีภาพตามที่ปรากฏออกมาให้เห็นเสือโคร่งสามตัว หนึ่งในนั้น คือ แม่ผกาเองลูกคอกที่ได้เห็นกันนี้เป็นคอกที่สองของแม่ผกา ข้อมูลจากกล้องดักถ่ายเพื่อการติดตามประชากรเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำปีนี้ บันทึกคลิปวิดีโอที่ทำให้รู้ได้ว่า ลูกคอกนี้ของแม่ผกามีทั้งหมด 4 ตัว แสดงว่ามีอีกสองตัวที่ยังเหนียมอาย จึงเปิดโอกาสให้ช่างภาพได้ค้นหาโอกาสในการกดชัตเตอร์กันต่อไป

ส่วนลูกคอกแรก คือ สืบพง พงษ์สิทธิ์ รวมถึง เจ้าเฉื่อย (อาจเป็นลูกกาฝาก) นั้นข้อมูลจากปลอกคอและกล้องดักถ่ายติดตามประชากรก็แสดงให้เห็นว่าพวกมันยังคงวนเวียนหากินอยู่ในละแวกบ้านเดิม ที่มีประชากรวัวแดงอาศัยอยู่หนาแน่น จึงมีความอุดมทั้งเหยื่อและผู้ล่า.


ขอบคุณข้อมูล เพจ Thailand Tiger Project DNP