สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ว่า สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นไอเอช) ระบุว่า หน่วยงานจะจำกัดเงินทุนของต้นทุนทางอ้อม และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ไว้ที่ 15% ซึ่งลดลงอย่างมาก จากการเรียกเก็บเงินทางอ้อมสูงถึง 60% ขององค์กรบางแห่งในปัจจุบัน
“การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยประหยัดเงินได้มากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 135,000 ล้านบาท) โดยจะมีผลทันที” บัญชีทางการของเอ็นไอเอชบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ระบุเสริมว่าสิ่งสำคัญคือ การทำให้แน่ใจว่าเงินทุนจำนวนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ถูกใช้ไปกับต้นทุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยตรง ทั้งค่าบำรุงรักษา ค่าอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายด้านการบริหารในห้องปฏิบัติการวิจัย
Scientists Deplore Sharp US Cut In Medical Research Funding https://t.co/9elNy0aK3S pic.twitter.com/3ktFGOL2aN
— NDTV WORLD (@NDTVWORLD) February 9, 2025
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายคนโต้แย้งว่า การตัดเงินทุนดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการวิจัยเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง และภาวะระบบประสาทเสื่อม เช่น โรคความจำเสื่อม และโรคพาร์กินสัน
“ความเคลื่อนไหวนี้จะทำให้การวิจัยและนวัตกรรมช่วยชีวิตผู้คน ชะงักงันอย่างแน่นอน” นายแมตต์ โอเวนส์ ประธานของซีโอจีอาร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันวิจัยและศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัย กล่าวในแถลงการณ์ พร้อมกับเรียกร้องให้บรรดาผู้นำของเอ็นไอเอช ยกเลิกนโยบายที่เป็นอันตรายเช่นนี้ ก่อนที่ชาวอเมริกันจะได้รับผลกระทบ
ขณะที่ นพ.เจฟฟรีย์ ฟลิเออร์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุในโพสต์บนเอ็กซ์ว่า แนวทางของรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงกระบวนการ แต่เพื่อสร้างความเสียหายต่อสถาบัน นักวิจัย และการวิจัยทางชีวการแพทย์.
เครดิตภาพ : AFP