เมื่อวันที่ 11 ก.พ. พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. ลงพื้นที่สร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน (RCD) ครั้งที่ 6 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ เขตคลองเตย

ปลัด กทม. กล่าวว่า สำหรับการฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศอาเซียน (RCD) ครั้งที่ 6 มีเจ้าหน้าที่จาก 3 ประเทศเข้าร่วมการฝึกซ้อม ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา โดยโจทย์ในการฝึกซ้อม คือ เหตุการณ์อุทกภัยขนาดใหญ่ น้ำท่วมล้นแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งหลังจากน้ำท่วมจะมีภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญ การดำเนินการต้องประสานให้ต่างประเทศใกล้เคียงเข้ามาช่วยเหลือ 

ซึ่งการฝึกซ้อมในครั้งนี้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพหลัก ตนมาให้กำลังใจทีมและศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก และกรุงเทพมหานครอำนวยการให้ใช้สวนเบญจกิติแห่งนี้เป็นที่ฝึกซ้อม มีการจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้เตรียมหน่วยแพทย์เข้าร่วมเนื่องจากมีความตั้งใจที่จะพัฒนาในเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ลงนามความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ดำเนินการ “อาร์ช โปรเจกต์” (ASEAN Regional Capacity on Disaster Health Management Project : ARCH Project) ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดการภัยพิบัติด้านสุขภาพ อาทิ พายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และภูเขาไฟปะทุ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน 

รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในพื้นที่ประสบภัย เช่น การขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ยา เป็นต้น โดยเป็นไปตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบสนองฉุกเฉินแบบ “One ASEAN One Response” และหนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือ การฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน (Regional Collaboration Drill : RCD)

สำหรับปีนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดฝึกซ้อม RCD ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 9-13 ก.พ. 68 มีทีมแพทย์ปฏิบัติการฉุกเฉินจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน 9 ประเทศและประเทศญี่ปุ่น รวมถึงศูนย์ประสานงานสำหรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมการจัดการภัยพิบัติ ทีมแพทย์ฉุกเฉินในประเทศ MERT (จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพฯ) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการภัยพิบัติกางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน บุคลากรปฏิบัติงานภายในศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) เข้าร่วมฝึกซ้อมแผน

ซึ่งในการฝึกซ้อมแผนได้กำหนดสถานการณ์จำลองเป็นเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ (ระดับ 4) เพื่อฝึกฝนระบบการดูแลผู้บาดเจ็บและระบบการส่งต่อทางน้ำและทางอากาศ, สารเคมีและการกำจัดสารพิษ, การประเมินความต้องการด้านสุขภาพ, สุขภาพจิต, โรคติดต่อ โรคที่เกิดจากน้ำ และโรคไม่ติดต่อ โดยมีการจำลองสถานการณ์ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติฯ ตามโจทย์ที่ได้รับในแต่ละสถานที่ เช่น นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร เป็นต้น ทั้งนี้ มีบุคลากรจากศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์เข้าร่วมการฝึกซ้อมในครั้งนี้ด้วย.