เฟซบุ๊กกรมการปกครอง ระบุเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 68 หลังเปิดให้มีการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม มีคู่สมรสมาจดทะเบียนยอดสะสม 5 วัน (23-27 ม.ค.68 ) ทั่วประเทศ จำนวน 3,170 คู่ โดยแบ่งเป็น คู่สมรส ชาย-ชาย 973 คู่ คู่สมรส หญิง-หญิง 2,197 คู่และคู่สมรส ชาย-หญิง 3,182 คู่ รวมจำนวนทั้งสิ้น 6,352 คู่
สถิติตัวเลขหญิงรักหญิงมาจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมมากกว่าคู่รักชายรักชายเกินครึ่ง ทั้ง ๆ ที่ในภาพของสังคมเราจะเห็นการเปิดเผยตัวตนของชายรักชายได้ชัดเจน สะท้อนอะไรในสังคมไทย “ณชเล บุญญาภิสมภาร” รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้มุมมองว่า เรื่องนี้เป็นพื้นที่ทางสังคม ถ้าสังคมมีแค่เพศชายกับเพศหญิง พื้นที่ทางสังคมเป็นของเพศชายเสียส่วนใหญ่ ผู้ชายมีสิทธิแสดงออกเรื่องเพศ เข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า ไปที่ไหนก็ไม่เดือดร้อน

หญิงรักหญิงยังถูกอคติ
แต่คนที่เป็นหญิงรักหญิงในสังคมไทยยังต้องเผชิญปัญหาอคติจำนวนมาก รวมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีวาทกรรมในเรื่องของ “แก้ทอม ซ่อมดี้” ไม่ว่าการที่บอกว่า “หญิงรักหญิง” ไม่มีอยู่จริง เดี๋ยวมีสามี มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเปลี่ยนไปเอง เป็นชุดความเชื่อที่เป็นอคติและแฝงความเชื่อด้วยความรุนแรง
เวลาที่เรามองเรื่องสิทธิเรื่องความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย การทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศจะเน้นไปในเรื่องความสัมพันธ์ของกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ชายกับชาย กับกลุ่มของผู้หญิงข้ามเพศเป็นหลัก เนื่องจากประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องของการทำงานด้าน HIV ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของการทำงาน HIV คือ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และหญิงข้ามเพศ ดังนั้นมีองค์กรจำนวนมากที่มารองรับคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว
งบประมาณยังไม่เท่าเทียม
ขณะเดียวไม่มีองค์กรของหญิงรักหญิง หรือมีอยู่แต่มีน้อยมาก และไม่มีงบประมาณสนับสนุน รวมถึงกลุ่มผู้ชายข้ามเพศ หรือกลุ่มของทอม มีองค์กรจำนวนน้อยของคนเหล่านี้ ทำให้เวลานี้มีกฎหมาย จึงกลายเป็นที่พึ่งเดียวของกลุ่มคนหญิงรักหญิง ในการที่จะเข้าถึงสิทธิของพวกเขาในขณะที่สิทธิของพวกเขา ขณะที่กลุ่มชายรักชายรู้สึกว่า มีพื้นที่รองรับกลุ่มของเขาเป็นจำนวนมาก
ยกตัวอย่างพื้นที่เที่ยวของชายรักชายในพื้นที่สีลมเป็นต้น ทำให้บางคนมองมีกฎหมายเป็นเรื่องที่ดี แต่อาจจะไม่รู้สึกเดือดร้อนเท่ากับหญิงรักหญิง ซึ่งการ มีกฎหมายจะเป็นหนทาง เป็นมาตรการที่เอื้อให้กลุ่มหญิงรักหญิงมีตัวตน เพื่อจะได้รองรับทางกฎหมาย ในขณะที่สภาพทางสังคมยังไม่เปิดให้กลุ่มหญิงรักหญิงได้พื้นที่ตัวตนแสดงออกทางเพศ หรือพื้นที่ในการแสดงความสัมพันธ์ ซึ่งกฎหมายทำให้กลุ่มหญิงรักหญิง ยังไม่รู้สึกรับรู้ได้ถึงความมั่นคง

วอนแก้อัตลักษณ์ทางเพศให้สมบูรณ์
แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมใช้แล้ว แต่กลุ่มคนรักเพศเดียวกันยังมองเห็นช่องว่างทางกฎหมายที่ยังไม่เอื้อในเรื่องของความเท่าเทียมเมื่อเทียบกับกลุ่มหญิงชาย หลังจากนี้ยังต้องเดินหน้าแก้ไขกฎหมายเพื่อทำให้สมรสเท่าเทียมสมบูรณ์ที่สุด
รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลว่า ก่อนสมรสเท่าเทียมจะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ข้อด้วยกัน
1.พูดถึงเรื่องที่คนข้ามเพศยังไม่ได้ถูกการรับรองในกฎหมาย ใน ความเป็นอัตลักษณ์ทางเพศในตัวของเขาเอง ดังนั้นคนข้ามเพศที่เป็นผู้ชายข้ามเพศอาจแต่งงานกับผู้หญิงข้ามเพศ แต่ว่าผู้ชายข้ามเพศคือภรรยา ผู้หญิงข้ามเพศคือสามีในทางกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ผู้ชายข้ามเพศเขาเป็นผู้ชาย เขาอยากจะเป็นสามี หรือผู้หญิงข้ามเพศเป็นผู้หญิง ก็อยากเป็นภรรยา แต่ในทาง กฎหมายไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงเป็นข้อสังเกตว่า ควรทำงานขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายรับรองอัตลักษณ์เพศสภาพ
2.ได้พูดถึงเรื่อง “บุพการี” ในกฎหมาย ณ เวลานี้มีคำว่าบิดา มารดา บุตร ซึ่งบิดาคือเพศชาย มารดาคือเพศหญิง ไม่มีการใช้คำว่า “บุพการี” เพราะคนรักเพศเดียวไม่มีมารดา อาจจะไม่สอดคล้องเมื่อเป็นคู่รักชายรักชายรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ดังนั้นควรใช้คำที่เป็น กลางทางเพศคือ “บุพการี”
3.เรื่องการเข้าถึง การตั้งครรภ์ด้วยเทคโนโลยีอนามัยเจริญพันธุ์ หรือการอุ้มบุญ ซึ่ง ณ เวลานี้การอุ้มบุญยังผิดกฎหมาย ต้องมีแก้กฎหมายอุ้มบุญเพื่อให้สิทธิการมีลูกของคู่สมรสเพศเดียวกัน เปิดโอกาสให้ผู้ชายรักผู้ชายไปเอาไข่ของผู้หญิงอื่นที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องเพื่อเปิดโอกาสมีลูกของตัวเองได้ ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ทำได้ไม่ยาก สามารถทำได้แล้ว ขณะที่คู่หญิงรักหญิงหลายคนไปใช้ธนาคารสเปิร์มในต่างประเทศแล้วกลับมาตั้งครรภ์ในประเทศได้.