สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในบันทึกข้อความ มอบหมายให้นายโฮเวิร์ด ลุตนิก รมว.พาณิชย์ ศึกษาและวางแผนการกำหนด “มาตรการภาษีตอบโต้” กับทุกประเทศบนโลก โดยให้ส่งรายงานภายในวันที่ 1 เม.ย. เพื่อให้ผู้นำสหรัฐลงนามอีกครั้งในคำสั่งฝ่ายบริหาร ให้มาตรการดังกล่าวมีผล ในวันที่ 2 เม.ย. ที่จะถึง
ทั้งนี้ ประเทศที่จะต้องเผชิญกับการตรวจสอบก่อน คือกลุ่มประเทศที่ “มีมูลค่าการค้าเกินดุลกับสหรัฐมากที่สุด” โดยระดับของภาษีตอบโต้จะสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติที่แต่ละประเทศเก็บภาษีจากสหรัฐ และมาตรการทางการค้าอื่นที่รัฐบาลวอชิงตันมองว่า “เป็นการเลือกปฏิบัติ” อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
President Trump on his plan for FAIR and reciprocal trade: "JOBS WILL GO UP TREMENDOUSLY!" pic.twitter.com/2IHkk18dxm
— Rapid Response 47 (@RapidResponse47) February 13, 2025
ทรัมป์กล่าวว่า การเลือกใช้มาตรการนี้ จะเป็นการฟื้นฟูความแข็งแกร่งทางการค้าให้กับสหรัฐ แม้หลายฝ่ายยังคงเตือนว่า มาตรการเหล่านี้ อาจกลายเป็นการทำให้เงินเฟ้อของประเทศเพิ่มขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์กล่าวถึงสหภาพยุโรป (อียู) อย่างจำเพาะเจาะจง โดยยกตัวอย่างที่อีกฝ่ายเก็บภาษีรถยนต์จากสหรัฐสูงถึง 10% ทั้งที่สหรัฐเก็บภาษีสินค้าแบบเดียวกันจากอียู ในอัตราเพียง 2.5% แต่สหรัฐเก็บภาษีรถบรรทุกขนาดเล็กสูงถึง 25%
สำหรับ 10 ประเทศและภูมิภาค ซึ่งมีมูลค่าการค้าเกินดุลกับสหรัฐมากที่สุด เมื่อปี 2567 ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป (อียู) เม็กซิโก เวียดนาม ไอร์แลนด์ เยอรมนี ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และแคนาดา ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 12 ต่อจากอินเดีย โดย แคนาดา เม็กซิโก และจีน เป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของสหรัฐ ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์.
เครดิตภาพ : AFP