‘วาเลนไทน์’ เทศกาลแห่งความรักที่สืบทอดมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษ กำลังสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมปัจจุบัน ที่ดูเหมือนว่า 14 กุมภาพันธ์ จะไม่ได้เป็นเพียงวันพิเศษสำหรับคู่รักอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นวันที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการบริโภคสิ่งของมากกว่าการเฉลิมฉลองความรักและความผูกพันอย่างแท้จริง

ต้นกำเนิดของวันแห่งความรัก

วันวาเลนไทน์มีต้นกำเนิดจากกรีกโบราณ ซึ่งในอดีตเป็นวันที่อุทิศให้กับเทพเจ้าแห่งความรักอย่าง ‘คิวปิด’ ผู้คนจะนำสิ่งของมาบูชาเพื่อแสดงความเคารพและขอพรให้พบกับความรักที่สมหวัง อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป จุดประสงค์ดั้งเดิมของวันวาเลนไทน์ที่เกี่ยวข้องกับความรักและความโรแมนติก กลับถูกบิดเบือนไป ผู้คนให้ความสำคัญกับการซื้อของขวัญ การรับประทานอาหารหรู และการแสดงออกถึงความรักด้วยวัตถุมากกว่าการแสดงความรักด้วยใจจริง

แม้ว่าการเฉลิมฉลองในวันดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชอบทว่าสิ่งสำคัญในอีกแง่หนึ่งคือการตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรากำลังฉลองอะไรกันแน่? ฉลองให้กับความรักที่แท้จริง หรือเพียงแค่หลงใหลไปกับการบริโภคนิยมที่ทำให้วาเลนไทน์กลายเป็นเพียงเทศกาลแห่งการจับจ่ายใช้สอย?

ความรักกับโลกที่เปลี่ยนไป

ความรักในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นแนวคิดที่ซับซ้อนและมีความหมายหลากหลาย เคยตั้งข้อสังเกตไหมว่า สังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่กำลังทำให้เรามองข้ามศักยภาพที่แท้จริงของความรัก ประกอบกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมีผลทำให้ผู้คนห่างเหินกันมากขึ้น การแสดงความรักจึงมักถูกจำกัดอยู่ที่การให้สิ่งของ อย่าง ตุ๊กตา ดอกไม้ หรือของขวัญอื่นๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

มาถึงตรงนี้ อาจต้องลองใคร่ครวญดูอีกสักรอบว่า เรากำลังมอบของขวัญให้แก่กันเพื่อนำไปถ่ายรูปสำหรับโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย และท้ายที่สุดสิ่งของเหล่านั้นก็แทบจะไม่ถูกนำมาใช้งานอีกเลย นี่คือสิ่งที่เราต้องการจริงๆ อย่างนั้นหรือ?

ความจริงที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

ข้อมูลจาก ‘Plastic Oceans International’ องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ขับเคลื่อนการยุติมลภาวะพลาสติกระดับโลก ระบุว่า วันวาเลนไทน์เพียงวันเดียวก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 9 ล้านกิโลกรัม และยังไม่นับรวมกับก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ อีกทั้งของขวัญยอดนิยมหลายชนิดยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และทิ้งร่องรอยไว้บนโลกเป็นเวลายาวนานมากกว่าที่คิด เช่น

  • ลูกโป่ง: ใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี
  • ถุงพลาสติกและหลอดพลาสติก: ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 500 ปี
  • แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว: ใช้เวลาย่อยสลายอยู่ที่ 400-450 ปี
  • กลิตเตอร์และของตกแต่งขนาดเล็ก: ซึ่งเป็นไมโครพลาสติก เมื่อถูกทิ้งก็จะยังสะสมอยู่ได้เป็นเวลานับร้อยปี
  • ดอกไม้ตัดแต่ง: การผลิตดอกไม้เหล่านี้ก่อมลพิษสูง เนื่องจากหลายแห่งมีการนำเข้าจากต่างประเทศและปลูกในโรงเรือนกระจกที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ทำให้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก

วาเลนไทน์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำได้ไม่ยาก

แทนที่จะมอบของขวัญที่เป็นวัตถุ ซึ่งอาจกลายเป็นขยะในภายหลัง ลองเปลี่ยนมาแสดงความรักด้วยการมอบประสบการณ์ที่น่าจดจำ เช่น การออกไปเดินป่าด้วยกัน การชมพระอาทิตย์ตกดิน หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ หากอยากมอบเสื้อผ้า ควรเลือกเสื้อผ้าที่ผลิตอย่างยั่งยืนจากแหล่งผลิตที่มีจริยธรรม หรือหากอยากให้ดอกไม้ ลองเลือกต้นไม้หรือดอกไม้ในกระถางที่มีชีวิตแทนที่จะเป็นดอกไม้ตัดแต่ง ซึ่งจะอยู่ได้นานกว่าและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

นอกจากนี้ ยังสามารถแสดงความรักผ่านการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น การเขียนเพลง การทำวิดีโอ หรือการประดิษฐ์ของขวัญที่มีความหมายแทนการซื้อสิ่งของสำเร็จรูป ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดปริมาณขยะ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและความตั้งใจของเราอีกด้วย

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในเทศกาลต่างๆ สามารถสร้างความผลกระทบเชิงบวกที่ยิ่งใหญ่ได้ มาเริ่มเปลี่ยนกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้วาเลนไทน์กลายเป็นวันที่เปี่ยมไปด้วยความรักอย่างแท้จริง