น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์ของไทย ทาง กสทช.ได้มีการกำหนดแนวทาง วางเป้าหมาย ตามหน้าที่ของ กสทช. ในการสนับสนุนผู้ประกอบการโทรทัศน์ของไทยทั้ง กลไกภาครัฐทั้งเชิงกฎระเบียบและเชิงระบบ ทั้งเทคโนโลยีและเชิงสังคม  โดยได้จัดทำประกาศ ต่างๆ เช่น ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ร่างแก้ไขปรับปรุง) และประกาศ กสทช. เรื่อง การให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเกี่ยวกับการกำกับดูแล โอทีที ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันใน กสทช. เป็นต้น

 ส่วนภารกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การทำ โรดแม็พ สำหรับกิจการโทรทัศน์ โดยคาดว่าจะเสร็จภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งจะเชิญทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยมาพูดคุยเพื่อประเมินและพัฒนาโรดแม็พ นี้ร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย นอกจากนี้ ยังมีโครงการศึกษาการจัดตั้งแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับดูโทรทัศน์ในระดับชาติ (บีวีโอดี ) ตามที่สมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทยเสนอ ซึ่งปัจจุบันคณะทำงานของสำนักงาน กสทช. ทำการศึกษาเสร็จแล้ว แนวทางน่าจะใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่เดิมและปรับเกณฑ์ต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมีการทบทวนวิธีการเข้าสู่การเป็นผู้รับใบอนุญาตภายหลังจากที่ใบอนุญาตปัจจุบันจะหมดอายุในปี 2572 ว่าใช้วิธีการอื่นได้หรือไม่ที่ไม่ใช่การประมูล

“ กสทช.ต้องเสริมแรงในทางเศรษฐกิจให้กิจการโทรทัศน์อยู่ได้ ในขณะเดียวกันเรื่องจริยธรรม การแก้ปัญหา การเฝ้าระวัง  เพิ่มการรู้เท่าทันสื่อและการส่งเสริมสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในภาคประชาชนต่างๆ เป็นสี่เสาหลักที่ตั้งเป้าให้โทรทัศน์ไทยได้ไปต่อและไปถึง และโทรทัศน์น่าจะเป็นพื้นที่ตรงกลาง เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทำให้คนมีความเข้าใจและเชื่อมโยงในสิ่งที่เป็นประเด็นร่วมกันของสาธารณะ ที่ควรจะมีนโยบายสาธารณะร่วมกัน”