เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 ก.พ. ที่ห้องสุรศักดิ์มนตรี กระทรวงกลาโหม น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) โครงการ ‘ความร่วมมือคัดเลือกทหารกองประจำการ ทหารกองหนุน และทหารอาสาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็น ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ’ ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับกระทรวงกลาโหม (กห.) โดยมีนางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. และ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับดังกล่าว

ปลัด กทม. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในวันนี้ เป็นครั้งแรกในการร่วมมือระหว่างข้าราชการทหาร และข้าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนให้ทหารที่ปลดประจำการ ได้เข้ารับราชการกับ กทม. ซึ่งมีความขาดแคลนอัตรากำลังในบางสายงาน ซึ่งต้องการผู้ที่มีศักยภาพและมีพละกำลังและมีวินัย เช่น สายงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) และงานเทศกิจ เป็นต้น เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง กทม. และกระทรวงกลาโหม ในการพัฒนาความรู้และทักษะของทหารเพื่อต่อยอดไปสู่การจ้างงาน

ทั้งยังส่งเสริมนโยบายสมัครใจเป็นทหารของกระทรวงกลาโหมที่ช่วยฝึกฝนศักยภาพให้บุคคลผ่านการฝึกทหาร เกิดประโยชน์ทั้งกับกระทรวงกลาโหมและกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเป็นการย้ำว่า เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คิด ทั้งนี้การคัดเลือกอัตรากำลังพลเข้ามานั้นจะเป็นอัตราพิเศษ

ด้าน รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ในเบื้องต้นจะเป็นการคัดเลือกกำลังพลเข้ามาเป็นเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สังกัด สปภ. ซึ่งปัจจุบันยังมีตำแหน่งว่างอยู่ 241 ตำแหน่ง ทั้งนี้ การรับกำลังพลในรอบนี้ อาจจะไม่รับเต็มทั้งหมดของตำแหน่งที่ว่างอยู่ ส่วนการคัดเลือกกำลังพลเข้าร่วมโครงการนี้ เบื้องต้นแต่ละเหล่าทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบัญชาการกองทัพไทย จะคัดกรองบุคลากรที่มีความต้องการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร และมีสมรรถนะทั้งร่างกายและจิตใจที่เหมาะสมต่อตำแหน่งที่เปิดรับ เพื่อมาเข้ารับการทดสอบจาก กทม. คือสอบตรงจากกองทัพ แล้วมาสอบตรงกับ กทม. ต่อ เป็นการสอบทั้งสองฝั่ง คาดว่าจะเริ่มต้นการรับสมัครในเดือน เม.ย. นี้ ซึ่งจะมีทหารปลดประจำการ 1 ผลัด

“ข้อได้เปรียบของการได้ทหารมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจงอย่างเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะส่งผลดีหลายประการ เนื่องจากทหารมีความแข็งแรง มีระเบียบวินัย และเข้าใจระบบบัญชาการหน้างานเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน เหมาะสมกับหน้าที่หลักในการเป็นส่วนหน้าเมื่อเผชิญเหตุ และรวมถึงการปฏิบัติงานชุมชนสัมพันธ์ ดูเรื่องความปลอดภัย จุดเสี่ยงของชุมชน และการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ ในพื้นที่ด้วย” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า ส่วนการจัดสอบข้อเขียนนั้นต้องมีการหารือกันอีกครั้ง อาจจัดสอบข้อเขียนในกองทัพ หรือที่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งมีหลักสูตรป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยคาดว่าจะจัดสอบช่วงสิ้นเดือน พ.ค. 68 และจะประกาศผลในวันที่ 20 มิ.ย. 68 รวมถึงยังวางแนวทางจัดหลักสูตรทางการศึกษา ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต่อยอดให้บุคลากรเหล่านี้มีคุณวุฒิสูงขึ้น ส่งเสริมให้วิชาชีพด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีความชำนาญมากที่สุด และให้บุคลากรที่คัดเลือกเข้ามามีความต้องการที่จะอยู่กับกรุงเทพมหานครต่อไปในระยะยาวด้วย.