สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ว่า เชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า “เอชเคยู5-โควี-2” (HKU5-CoV-2) มีลักษณะคล้ายกับซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 โดยไวรัสดังกล่าว มีเป้าหมายที่ตัวรับในมนุษย์ตัวเดียวกัน คือเอนไซม์แปลงแองจิโอเทนซิน (เอซ2) ตามรายงานของ เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์
นักวิจัยพบว่า เอชเคยู5-โควี-2 อาจนำไปสู่การแพร่กระจายของโรคจากคนสู่คน หรือแม้แต่ข้ามสายพันธุ์ก็ได้
ทีมวิจัยของห้องปฏิบัติการกว่างโจว ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งนำโดยนางซื่อ เจิ้งหลี่ เขียนไว้ในผลการศึกษา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ “เซลล์” เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า การศึกษาครั้งนี้ เผยให้เห็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกันของเชื้อเอชเคยู5-โควี ในค้างคาว ซึ่งใช้เอนไซม์ของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเน้นย้ำถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน
New bat coronavirus discovered in China sparks pandemic concerns https://t.co/9kWd6pRBaJ
— Fox News (@FoxNews) February 23, 2025
รายงานระบุว่า เอชเคยู5-โควี-2 สามารถติดเชื้อในเซลล์ของมนุษย์ได้ รวมถึงเนื้อเยื่อปอดและลำไส้ที่ปลูกขึ้นเอง
ดร.มาร์ก ซีเกล ศาสตราจารย์คลินิกสาขาการแพทย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก แลงกอน เฮลธ์ กล่าวว่า เชื้อสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการจับกับตัวรับในปอด จมูก และทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคโควิด-19 ติดเชื้อในมนุษย์ได้ ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะแพร่กระจายจากสัตว์สู่คน และติดต่อจากคนสู่คนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นยังคง “ต่ำมาก” เนื่องจากความสามารถในการจับกันนั้นอ่อนแอกว่า และตัวไวรัสก็ “มีพลังน้อยกว่า” ซาร์ส-โควี-2 มาก.
เครดิตภาพ : AFP