เมื่อวันที่ 24 ก.พ.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการวิเคราะห์และกลั่นกรองงบประมาณโรงเรียนที่ขอรับสนับสนุนโครงการสร้างความเท่าเทียมด้านโภชนาการฯ โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตกับชุมชนฯ เพื่ออาหารนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ สพฐ. ผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนฯ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศน์ ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 61 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรม เดอะเล็คกาซี่ จ.นนทบุรี
.
สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2568 โดยหารือใน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสร้างความเท่าเทียมด้านโภชนาการสำหรับนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ โดยมีกิจกรรมสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของนักเรียน และกิจกรรมสนับสนุนนักเรียนบ้านไกลพักนอนในสังกัดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มื้อเช้าและมื้อเย็น และ 2. โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตกับชุมชนและภาคีเครือข่ายเพื่ออาหารนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา โดยได้ประชาสัมพันธ์ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียนในสังกัดที่มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการและกิจกรรมดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และมีโรงเรียนส่งคำขอรับการสนับสนุนให้ สพฐ. พิจารณาผ่านระบบ School Lunch System ภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 จำนวนทั้งสิ้น 1,769 โรงเรียน
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ความสำคัญกับสุขภาวะที่ดีของผู้เรียน ทั้งสุขภาพกายและใจต้องแข็งแรง เพื่อสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” รวมถึงการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ดังนั้น ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการส่งเสริมนักเรียนให้ได้รับความเท่าเทียมด้านโภชนาการ และสำหรับนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ หมายถึงภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ไม่เหมาะสมกับความต้องการ จึงทำให้เกิดภาวะเตี้ยแคระ ผอมแห้ง
หรือมีน้ำหนักเกิน สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ อาจเกิดได้จากทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว โครงการนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการดังกล่าวลดลง โดยได้รับโภชนาการที่ดี มีองค์ความรู้ มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อพัฒนาการที่สมวัยของนักเรียน
.
“ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีจึงอยากให้โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา และคณะกรรมการผู้เกี่ยวข้อง ใช้โอกาสนี้วิเคราะห์และกลั่นกรองงบประมาณโรงเรียนที่ขอรับการสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสความเท่าเทียมให้กับนักเรียนในด้านโภชนาการที่ดี ได้รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยลดภาระผู้ปกครอง สุขภาพกายและใจของเด็กก็จะมีความสมบูรณ์ เกิดเป็นความสุข สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ พร้อมพัฒนาตนเอง “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” และให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว