สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ว่า สมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) จัดการลงมติเกี่ยวกับร่างที่เสนอโดยหลายประเทศยุโรป ร่วมกับยูเครน เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย โดยมีเนื้อหาประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย การขอให้ประชาคมโลกร่วมกันเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน และการเน้นย้ำว่า การละเมิดพรมแดนเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง
มติดังกล่าวได้รับความสนับสนุน 93 เสียง คัดค้าน 18 เสียง และงดออกเสียง 65 เสียง ส่วนอีก 17 ประเทศที่เหลือไม่ได้เข้าประชุม โดยประเทศที่ลงมติคัดค้านนอกเหนือจากรัสเซีย ตามความคาดหมายแล้ว ยังรวมถึงสหรัฐ ส่วนประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นั้น 8 ประเทศรวมถึงไทย ออกเสียงสนับสนุน มีเพียงลาวและเวียดนามงดออกเสียง
Adoption of today's UNGA resolution on an early & just peace in Ukraine confirms the importance of upholding the UN Charter & respecting all countries' territorial integrity & sovereignty.
— ????????EU at UN-NY (@EUatUN) February 24, 2025
Peace in Ukraine. In line with the Charter.
✅ 93 votes in favor
❌ 18 votes against pic.twitter.com/JYp7d5K0Sv
อีกด้านหนึ่ง มติของสหรัฐซึ่งเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่มีเนื้อหาตรงข้ามกับมติของยูเอ็นจีเออย่างสิ้นเชิง โดยเพียงเรียกร้องให้สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย “ต้องยุติด้วยความรวดเร็วที่สุด”
นอกจากนี้ มติไม่มีเนื้อหาระบุเกี่ยวกับการเคารพอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน อย่างไรก็ตาม มติผ่านด้วยคะแนนเสียง 10 เสียง ซึ่งสหรัฐ รัสเซีย และจีน สนับสนุน ไม่มีผู้คัดค้าน และงดออกเสียง 5 เสียง ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก กรีซ และสโลวีเนีย
UN Security Council adopts American resolution on Russia-Ukraine conflict
— RT (@RT_com) February 24, 2025
European countries abstain https://t.co/SZgMq9fy1o pic.twitter.com/tHLmmbWXRX
แม้การลงมติทั้งสองครั้งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่ถือเป็น “แรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ทางการทูต” จากการที่สหรัฐลงมติไปในทางเดียวกับรัสเซีย ส่วนในการลงมติของยูเอ็นเอสซีนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสมาชิกถาวร เช่นเดียวกับสหรัฐ รัสเซีย และจีน กลับไม่ใช่สิทธิวีโต้
ความเคลื่อนไหวบนเวทีการทูตระดับโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดอย่างหนัก ระหว่างสหรัฐกับยูเครน โดยรัฐบาลวอชิงตันกดดันให้รัฐบาลเคียฟ “ต้องชดใช้” ความช่วยเหลือที่เคยมอบให้ไปทั้งหมด ผ่านข้อตกลงให้สหรัฐเข้าถึงแร่ธาตุหายาก.
เครดิตภาพ : AFP