เหตุการณ์ “ดราม่าบนถนน” กรณี “สวนเลน” กรณี “วีไอพี” ที่เป็นไวรัลครึกโครมสังคมไทย ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร เมื่อโฟกัสลึก ๆ แล้วเหตุการณ์เช่นนี้ก็ “ฉายภาพความไม่ปลอดภัยบนถนน” และเรื่องแบบนี้ก็ “ไม่ควรปล่อยผ่าน”…

ความไม่ปลอดภัยบนถนน” ที่เบาะ ๆ ก็เกิด “ดราม่า” และบ่อยครั้งก่อเกิด “โศกนาฏกรรมร้ายแรง” นั้น เรื่องนี้ทาง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้สะท้อนผ่าน “เดลินิวส์” มาว่า… ในแง่ของความปลอดภัยบนท้องถนนนั้น เมื่อจำเป็นจะต้องมีการทำให้ช่องทางการจราจรผิดไปจากรูปแบบปกติ กรณีนี้จำเป็นจะต้องมีการสื่อสารที่ดีให้มากเพียงพอ” อย่างกรณีถนนข้างหน้าจะมีการปิด หรือเส้นทางจราจรจะมีการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนไปจากรูปแบบปกติ เช่น เปิดเลนสวน เปิดให้ขับขี่ย้อนศร หรือการเปิดเลนแทรก หากไม่มีการสื่อสารที่ดี ที่ชัดเจนมากพอ มีคนใช้รถใช้ถนนที่ไม่รู้มาก่อน ก็เสี่ยงเกิดอันตราย “เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด การสื่อสารที่มากเพียงพอ และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจน เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันได้รับทราบ จึงเป็นหลักสำคัญ”

ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ยังได้ยกตัวอย่างกรณี รถแอมบูแลนซ์ รถฉุกเฉิน โดยระบุว่า… จะมีการเน้นการสื่อสาร 2 เรื่องสำคัญ นั่นคือเสียงและแสง เพื่อแจ้งให้ผู้ที่กำลังใช้ถนนร่วมกันอยู่เพิ่มความระมัดระวัง หรือหลบเลี่ยงเส้นทางที่รถฉุกเฉินกำลังจะแล่นผ่าน “และจริง ๆ ควรมีช่องทางพิเศษเฉพาะให้กับรถแอมบูแลนซ์จะยิ่งดี”

ทั้งนี้ ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์ “ดราม่าบนถนน” ที่เป็นประเด็นครึกโครม ทาง นพ.ธนะพงศ์ ระบุถึงกรณี “สวนเลน” ที่เกิดขึ้นว่า… กรณีที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นเพราะการสื่อสารที่ไม่ดีพอ ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันไม่เกิดการรับรู้ที่มากพอว่าการจราจรขณะนั้นกำลังมีรูปแบบไม่ปกติ ส่วนกรณี “วีไอพี” ในภาพรวมทั่ว ๆ ไป ทางผู้จัดการ ศวปถ. ระบุว่า… “ปัญหาบนท้องถนนที่มักจะพบอยู่บ่อย ๆ ด้วย ก็คือกลุ่มรถวีไอพี ที่จู่ ๆ ก็โผล่เข้ามาแบบกระชั้นชิด” ทำให้มีบ่อยครั้งที่ผู้ใช้ถนนคนอื่น ๆ ไม่สามารถหลบหลีก หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถนนบางเส้นก็ไม่มีเส้นทางให้หลบออกไป ดังนั้น ผู้มีหน้าที่อำนวยการจรจรในสถานการณ์จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจและความชำนาญด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพเส้นทาง และอันที่จริงไม่ควรมีสถานการณ์วีไอพีเลย ถ้าไม่ใช่กรณีเร่งด่วนจริง ๆ โดยควรสงวนสิทธิ์นี้ไว้ให้กับรถแอมบูแลนซ์ รถดับเพลิง รถฉุกเฉิน จะดีกว่า

“อยากเสนอให้สังคมไทยหันมาทบทวนประเด็นนี้ ว่า สถานการณ์วีไอพีควรใช้ในกรณีพิเศษจริง ๆ ถ้าไม่เร่งด่วนก็ควรเหมือนคนทั่วไป ส่วนที่เร่งด่วนจริง ๆ ก็ต้องมีการแจ้งเพื่อสื่อสารให้ผู้ใช้ถนนคนอื่น ๆ ได้มีการรับรู้กันไว้ก่อน และมีการเตรียมพร้อมจัดการจราจร เช่นสมมุติมีแขกต่างประเทศมา อันนี้ก็จัดการปิดถนนทั้งเส้นเลย มีการจัดการก่อนล่วงหน้า ซึ่งแบบนี้จะทำให้ผู้ใช้ถนนคนอื่น ๆ ปลอดภัยด้วย การที่จู่ ๆ มาขอเป็นวีไอพีกะทันหันนั้น กรณีนี้จะทำให้ผู้ใช้ถนนคนอื่น ๆ เกิดอันตรายได้ เพราะไม่รู้ตัวกันล่วงหน้า นอกจากนั้น ยังขอฝากถึงผู้นำขบวนรถด้วย ควรที่จะได้มีการฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมอยู่เสมอด้วย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนทุกฝ่าย”…ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนเสนอทิ้งท้าย.

————————————————————-