“วัคซีน” เป็นอาวุธสำคัญของมนุษย์ในการต่อสู้กับการเชื้อโรค และโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนต้องใช้เข็มฉีดยา และยังมีผลข้างเคียงอีกมากมาย จึงทำให้ผู้คนปฏิเสธที่จะรับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะคนที่กลัวเข็ม

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ค้นพบว่าแบคทีเรียทั่วไปบนผิวหนังมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันที่น่าทึ่ง โดยการดัดแปลงพันธุกรรมให้เป็นครีมวัคซีนที่ทาแล้วได้ผลเหมือนฉีด สามารถให้ภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งแก่หนูได้

แบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส อีพิเดอร์มิดิส สามารถอยู่รอดได้ในปริมาณมากบนผิวหนัง และรูขุมขนของมนุษย์ ได้รับการค้นพบว่า มีศักยภาพในการต้านทานการรุกรานของไวรัสไข้หวัดใหญ่ กลุ่มวิจัยทาแบคทีเรียลงบนศีรษะของหนู และใน 6 สัปดาห์ต่อมา พบว่าแอนติบอดีในหนูเพิ่มขึ้นสูงกว่าการฉีดวัคซีนเสียอีก เมื่อทดสอบโดยใช้เลือดของมนุษย์ก็ได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน

แบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส อีพิเดอร์มิดิส มีโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Aap ซึ่งสามารถรับชิ้นส่วนโปรตีนจากภายนอกเพื่อส่งให้ระบบภูมิคุ้มกันรู้จัก และกระตุ้นให้แอนติบอดี IgG และ IgA เพิ่มขึ้น กลุ่มวิจัยเข้ารหัสชิ้นส่วนยีนบาดทะยักบนโปรตีน Aap นี้ และทำเป็นครีมทาให้กับหนู ใน 6 สัปดาห์หนูสร้างแอนติบอดีบาดทะยักในระดับสูงมาก และรอดชีวิตได้อย่างปลอดภัย หลังจากฉีดสารพิษบาดทะยักในปริมาณที่ร้ายแรง

การทดสอบครั้งที่ 2 คือยีนสารพิษคอตีบ หลังจากทาแล้ว หนูยังสร้างแอนติบอดีสารพิษคอตีบจำนวนมากอีกด้วย

ต่อไปกลุ่มวิจัยจะเริ่มการทดลองกับลิง หากสำเร็จก็มีโอกาสที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองทางคลินิก เพื่อมอบวิธีการที่มีประสิทธิภาพ และไม่เจ็บปวดมากขึ้น ในการต่อสู้กับการรุกรานของจุลินทรีย์สำหรับมนุษย์.