เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 68 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ได้ออกมาพูดถึงการทดลองของคลิปวิดีโอรายหนึ่ง ที่นำน้ำเปล่าใส่แก้วและน้ำมันพืช หลังจากนั้นน้ำมันจะลอยตัวอยู่ชั้นบนของน้ำ จึงได้หยดสีแดงลงไปในแก้ว และโรยผงกระเทียมอัดเม็ดลงไป จากนั้นจึงพบว่าสีแดงได้ไหลลงไปอยู่ในน้ำ และอ้างว่า คือ ลิ่มเลือด
โดยเจ้าของโพสต์ ระบุข้อความว่า “กินกระเทียมสด ช่วยลดลิ่มเลือดได้ แต่การทดลองแบบนี้ มันไม่ใช่นะ ได้รับคลิปติ๊กต็อกจากลูกเพจมาถามว่า “การทดลองแบบนี้ มันใช้ได้ด้วยเหรอครับ” คือ เหมือนกับเป็นการโปรโมตกระเทียมอัดเม็ด โดยมีแก้วน้ำที่ใส่น้ำเปล่า และน้ำมันพืชเอาไว้ น้ำมันก็จะลอยอยู่ชั้นบนของน้ำ จากนั้นก็หยดสีแดงลงไป โดยสมมุติว่าเป็นลิ่มเลือด กองอยู่บนชั้นของน้ำมัน แล้วก็เอาผงกระเทียมอัดเม็ด มาใส่ลงไปบนหยดสีแดงนั้น”

อีกทั้ง “สีแดงก็ไหลลงไปอยู่ในน้ำ ทำนองว่า “ลิ่มเลือดสลายตัวหลังจากได้กระเทียม” แต่การทดลองแบบนี้ มันไม่ได้บอกอะไรเรื่องการสลายลิ่มเลือดนะครับ เพราะมันก็แค่ว่า หยดสีแดงนั้น กองอยู่ที่ชั้นของน้ำมัน พอมีอะไร (เช่น ผงกระเทียม) มากดลงไปจนทำให้ชั้นน้ำมันแตกตัว สีแดงก็หยดลงไปละลายอยู่ในน้ำเปล่า ดูเหมือนเลือดแผ่กระจายแค่นั้นเอง”
นอกจากนี้ “จะเอาให้เร็วกว่านี้ ก็เอาน้ำยาล้างจาน (ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิว) หรือสารกลุ่มอีมัลซิไฟเออร์ (ที่ช่วยผสมน้ำมันกับน้ำได้ดี) หยดลงไปแทนที่ผงกระเทียมก็ได้ ยิ่งทำให้ชั้นน้ำมันกับชั้นน้ำเปล่า รวมตัวกันเร็วขึ้น หยดสีแดงยิ่งตกลงไปเร็วขึ้นอีก โดยไม่ได้แปลว่า น้ำยาล้างจานจะสลายลิ่มเลือดแต่อย่างไร”
สำหรับ “ลิ่มเลือด” นั้น เป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อห้ามเลือดในเนื้อเยื่อที่ฉีกขาดหรือได้รับบาดเจ็บ โดยเลือดที่ไหลออกมา จะสัมผัสกับสารเฉพาะที่อยู่บริเวณผิวหนัง หรือผนังหลอดเลือด กระตุ้นให้เกล็ดเลือดมารวมตัวกัน เปลี่ยนรูปร่างปิดส่วนที่ฉีกขาด หลังจากนั้นโปรตีนในเลือดจะมีการสร้างเส้นใยไฟบริน ลักษณะคล้ายตาข่าย เสริมความแข็งแรงของเกล็ดเลือดที่รวมตัวกันอยู่ กลายเป็นลิ่มเลือด

โดยปกติแล้วร่างกายจะสร้างโปรตีนชนิดอื่นขึ้นมา เพื่อช่วยให้ลิ่มเลือดเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่ต้องการ และไม่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย แต่ลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นนั้น อาจมีบางส่วนไปอุดตันหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ อย่างแขน, ขา, ปอด, ไต, สมอง และลำไส้ หรือหัวใจ จนอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง จนถึงชีวิตได้ ผู้ที่มีอาการบ่งชี้ของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ ผู้ที่เสี่ยงมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน สามารถลดความเสี่ยงได้ ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงการนั่งท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรลุกเดินเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
3. รับประทานผักและผลไม้ รวมถึงอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 และวิตามินอี
4. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์มาตรฐาน
5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือสวมถุงน่องที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนเป็นปกติโดยเฉพาะ
อีกทั้ง “ยังมีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หลายแห่ง พบว่า “กระเทียม” ถ้า “กินสดๆ” จะมีสารอัลลิซิน (Allicin) ที่มีสมบัติลดการสะสมของคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด และช่วยสลายลิ่มเลือดได้ ลดภาวะเลือดแข็งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของเส้นเลือดอุดตัน และภาวะหัวใจวายได้ และการกินกระเทียมให้ได้ผล ควรสับหรือบดกระเทียมสด ให้ละเอียด และควรกินสดๆ โดยกินครั้งละ 5 กรัม (สับหรือบดตวงได้ราว 1 ช้อนชาพูน) กินพร้อมอาหารวันละ 3 เวลา”
อย่างไรก็ตาม “อาจจะคลุกเคล้าเพื่อเพิ่มรสชาติอาหาร แต่ทั้งนี้ไม่ควรนำกระเทียมลงไปผัด ต้มหรือทอด เพราะเมื่อถูกความร้อนแล้ว สารอัลลิซินจะเสื่อมสภาพ และไม่ควรกินกระเทียมสดเปล่าๆ ตอนท้องว่าง เพราะอาจจะระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ ส่วนกระเทียมเจียวในน้ำมัน ที่นิยมทำกันเพื่อให้มีกลิ่นหอมนั้น ถือว่ามีไขมันสูง แถมยังผ่านความร้อนสูงมาแล้ว จึงไม่ถือว่ามีประโยชน์ในการป้องกันโรคหัวใจแต่อย่างใด รวมถึงกระเทียมดองที่ปรุงเค็มจัด ก็อาจมีส่วนทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น จึงไม่นับว่ามีประโยชน์ในเรื่องนี้ด้วย”
ขอบคุณข้อมูล : Jessada Denduangboripant มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และPOBPAD