เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 68 นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วย นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยผู้บริหาร กทม. เจ้าหน้าที่เขตราษฎร์บูรณะ และเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ ลงพื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือซอยราษฎร์บูรณะ 1 เพื่อตรวจสอบเรือภัตตาคารที่ปรากฏคลิปทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยวันนี้เรือดังกล่าวยังเปิดให้บริการปกติ มีพนักงานและเจ้าหน้าที่จัดเตรียมสถานที่และจัดเตรียมอาหารตามปกติ แต่ผู้จัดการเรือไม่อยู่เนื่องจากเข้าไปให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า จึงมีผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทเป็นผู้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่แทนผู้จัดการ

อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า จากการพูดคุย ทางบริษัทยอมรับความผิดที่พนักงานทิ้งขยะลงแม่น้ำจริง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 ก.พ. เวลาประมาณ 19.00 น. ความผิดดังกล่าวถือว่ามีความผิด ตามพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 119 มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในการขจัดสิ่งเหล่านั้นด้วย

ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในความผิดดังกล่าวแล้ว ส่วนผู้ควบคุมเรือหรือนายเรือ กรมเจ้าท่าจะดำเนินการสอบสวนและการตั้งคณะกรรมการพักใช้ใบประกาศนียบัตรนายเรือและใบอนุญาตใช้เรือลำดังกล่าว

นอกจากนั้นจะมีการเชิญสมาคมเรือไทย และผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว เพื่อพูดคุยและหารือในการทำธุรกิจและช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผู้ประกอบการต่างใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว สิ่งที่เกิดขึ้นต้องขอบคุณประชาชนและสังคมที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตาและช่วยกันตรวจสอบสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กรมเจ้าท่าในฐานะผู้รับผิดชอบจะดำเนินมาตรการในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น

สำหรับเรือนำเที่ยวที่ให้บริการอาหารบนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันที่ขอใบอนุญาตมีทั้งหมด 40 ลำ ซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่า ยืนยันว่า มีเรือลาดตระเวนตรวจสอบการเดินเรือบนแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเย็นตลอด แต่จุดที่เกิดเหตุตามคลิปวิดีโออาจจะหลุดรอดสายตาเจ้าหน้าที่ จากนี้จะมีการเน้นย้ำให้ตรวจสอบเข้มข้นมากนัก อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยได้รับการร้องเรียนในเรื่องนี้มาก่อน แต่หลังจากนี้ก็จะมีการเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น

ด้านที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม. จะเข้าตรวจสอบในเรื่องของ พ.ร.บ.การสาธารณสุข ซึ่งร้านอาหารที่อยู่บนเรือจะต้องมีการขอใบอนุญาต เป็นสถานที่จำหน่ายอาหาร จากการตรวจสอบของสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ พบว่าเรือลำดังกล่าวยังไม่ได้ขออนุญาตเป็นสถานที่จำหน่ายอาหาร เบื้องต้นจึงออกหนังสือแจ้งเตือนให้บริษัทเรือดังกล่าว ทำเรื่องขออนุญาตการจัดจำหน่ายเป็นร้านอาหารให้ถูกต้อง ภายใน 7 วัน ถ้าไม่มีการดำเนินการอย่างถูกต้องจะถือว่าฝ่าฝืน มาตรา 45 ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กทม. จะเข้มงวดในการตรวจสอบการเปิดจำหน่ายร้านอาหารบนเรือท่องเที่ยว และพื้นที่ต่างๆ ของ กทม.ว่าได้ขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขอย่างถูกต้องหรือไม่ แต่ถ้าพบการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ก็สามารถดำเนินคดี พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 33 มีโทษปรับ 10,000 บาท.