ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง ยาแก้อักเสบ และยาฆ่าเชื้อ เป็นชื่อที่คนส่วนใหญ่มักสับสนคิดว่าเป็นยาตัวเดียวกัน แต่ความจริงแล้วทั้ง 2 ชนิดนี้มีหน้าที่และกลไกการทำงานที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน การเข้าใจความแตกต่างระหว่างยาทั้ง 2 ชนิดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การใช้ยาเป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัย

Pills with glass jar

ยาแก้อักเสบ คือ

ยาแก้อักเสบ เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ แก้ปวด รวมทั้งยังมีฤทธิ์ในการลดไข้ เช่น แอสไพริน ไดโคลฟิแนค ไอบรูโพนเฟน ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ยาแก้อักเสบใช้ เพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการอักเสบ ได้แก่

  • ปวดหลัง 
  • ปวดกล้ามเนื้อ 
  • ปวดข้อ 
  • อาการเคล็ดขัดยอก 
  • เส้นเอ็นอักเสบ 
  • กล้ามเนื้ออักเสบ 

เนื่องจากอาการอักเสบส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อม การอักเสบของข้อจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง หรือกล้ามเนื้ออักเสบจากการยกของหนักและเล่นกีฬา

 medicines in the palm of the hand

ยาฆ่าเชื้อ คือ

ยาฆ่าเชื้อเป็นยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ เช่นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น เพนนิซิลิน และอะม็อกซีซิลิน ไม่มีฤทธิ์แก้ปวดหรือลดการอักเสบ ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง ปัสสาวะแสบขัดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 

ดังนั้น หากเรียกยาฆ่าเชื้อว่ายาแก้อักเสบจะทำให้เข้าใจผิด คิดว่ายาฆ่าเชื้อสามารถรักษาอาการอักเสบได้ทุกชนิด หรือในทางกลับกันที่คิดว่ายาแก้อักเสบสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ จะทำให้ใช้ยาผิดประเภทหรือรักษาโรคผิดได้

Top view variety of medicine and tablets

ข้อควรระวังในการใช้ยา

  • ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าเชื้อหากไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อ
  • ใช้ยาแก้อักเสบตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง