เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 มี.ค. ที่สำนักการโยธา ศาลาว่าการกทม. ดินแดง เขตดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) การบูรณาการข้อมูลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานระหว่าง กรมการขนส่งทางบก กับ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ผู้บริหารกทม. ผู้บริหารสำนักการโยธา ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง ผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.ให้ความสำคัญในการร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกในทุก ๆ ด้าน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพเมือง การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ (MOA) มีเป้าหมายที่จะแบ่งปันข้อมูลร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางบก กับ กรุงเทพมหานคร เป็นการส่งเสริม สนับสนุน และการสร้างพันธมิตรในการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน ตามนโยบายของรัฐที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

โดยกรมการขนส่งทางบก จะแบ่งปันข้อมูลการเดินรถจาก GPS แบบ Real Time ข้อมูลยานพาหนะ ข้อมูลผู้ขับรถของรถโดยสารประจำทางและรถบรรทุกขนส่งสินค้าทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งกทม.จะได้นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการแจ้งเวลาของรถที่จะเข้าป้ายจำนวน 5,000 ป้าย ศาลาที่พักผู้โดยสารจำนวน 2,098 หลัง การวิเคราะห์เวลาการเดินทาง การนำเวลามาปรับสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสม การควบคุม กำกับ ติดตามรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินและรถบรรทุกวัตถุอันตรายที่เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ

ซึ่งกทม.จะแบ่งปันข้อมูลถนน ตรอก ซอย ตำแหน่งป้ายรถประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสาร ตำแหน่งจุดจอดรถจักรยานยนต์รับจ้าง และข้อมูลผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมายต่อไป โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแบ่งปันข้อมูลร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาเมืองที่ดียิ่งขึ้นและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

“ถ้าเราเชื่อมโยงข้อมูล GPS กับกรมการขนส่งทางบก จะทําให้เราสามารถกํากับดูแลได้ในหลายด้าน เช่น เรื่องน้ำหนักรถบรรทุก เราจะรู้เลยว่ารถที่ฝ่าฝืนวิ่งตรงไหน สามารถนำข้อมูล GPS ไปขึ้นศาลแล้วก็ปรับ จากนั้นเราก็รู้ว่ารถคันดังกล่าว วิ่งไปส่งของที่ไหน ที่ไซต์งานไหน ซึ่งเรามีข้อกําหนดว่าไซต์งานไหนที่ใช้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ก็จะให้หยุดการก่อสร้างก็ทําให้เกิดความเกรงกลัวมากขึ้น รวมถึงการใช้ในกระบวนการควบคุมเรื่องฝุ่น PM2.5 ด้วย เรามีการดำเนินมาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ในพื้นที่ รถบรรทุกที่ไม่อยู่ใน Green List เราไม่ให้เข้ามาในเขตวงแหวนชั้นใน หรือแม้กระทั่งกรณีรถเมล์ เพราะเราจะทําป้ายรถเมล์ที่มีการเชื่อมโยง GPS ทําให้รู้เลยว่าอีกกี่นาทีรถเมล์จะถึงป้าย ทําให้ผู้โดยสารสามารถรอได้อย่างเหมาะสม” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

สำหรับขอบเขตความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ มีดังนี้ 1.ขบ. จะแบ่งปันเชื่อมโยงข้อมูล ดังนี้ ข้อมูลจากระบบบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (GPS) แบบ Real Time ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลการเดินรถ GPS Log รายนาที ข้อมูลยานพาหนะ ข้อมูลผู้ขับรถ ของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ในประเภทการขนส่งประจำทาง (รถโดยสารประจำทาง) และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (รถบรรทุกขนส่งสินค้า) ทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้แก่ กทม. เพื่อใช้ปฏิบัติงานตรวจสอบและควบคุมน้ำหนักยานพาหนะบนทางหลวงท้องถิ่นในเขตกรุงเทพมหานคร และเพื่อการบริหารงานและบริการประชาชนภายในเขตพื้นที่การปกครองของกรุงเทพมหานครภายใต้อำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

2.กทม. จะแบ่งปันเชื่อมโยงข้อมูลถนน ตรอก ซอย ตำแหน่งป้ายรถประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสาร และตำแหน่งจุดจอดรถจักรยานยนต์รับจ้าง และข้อมูลผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินจากฐานข้อมูลของ กทม. เพื่อประโยชน์ในการดำเนินภารกิจของ ขบ. ภายใต้อำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

3.สนับสนุนส่งเสริมบุคลากรให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน เช่น ด้านการตรวจสอบ ด้านการวิเคราะห์และประมวลผล และ 4.ดำเนินการแบ่งปันข้อมูลให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มีผลใช้บังคับใช้ภายใน 3 ปี (สามปี) นับถัดจากวันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ทั้งนี้ ขบ. และ กทม. อาจตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขยายเวลาในการใช้บังคับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ออกไปได้ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ ความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เป็นไปตามพ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528, พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535, ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่น เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหายเดินบนทางหลวงท้องถิ่น ในเขตความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 31 มีนาคม 2565, คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 500/2560 เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานทางหลวงสำหรับทางหลวงท้องถิ่น ลงวันที่ 31 มีนาคม 2560 และคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 2328/2564 เรื่อง แก้ไขคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานทางหลวงสำหรับทางหลวงท้องถิ่น ลงวันที่ 28 กันยายน 2564.