เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นกลุ่มลูกจ้างสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จากเครือข่ายสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทย รวมตัวกันกว่า 50 คน ติดตามความคืบหน้าประเด็นการคืนสิทธิประกันสังคม  ปรับเพิ่มอัตราเงินเดือน และขอความมั่นคงในอาชีพ ซึ่งต้องยอมรับว่า สพฐ.เป็นหน่วยงานที่มีกลุ่มลูกจ้างจำนวนมากที่สุด เพราะ สพฐ.มีโรงเรียนถึง 30,000 แห่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศอีก 245 เขต และในจำนวนนี้มีลูกจ้างหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกจ้างนักการภารโรง ครูผู้สอน ครูพี่เลี้ยง แม่ครัว  ซึ่งการจัดจ้างแต่ละตำแหน่งก็มีความแตกต่างกัน เช่น ตำแหน่งนักการภารโรง เดิมเคยเป็นลูกจ้างชั่วคราง แต่ปัจจุบันนักการภารโรงถูกจ้างแบบจ้างเหมาบริการ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง เป็นต้น

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า  ทั้งนี้ สพฐ.เข้าใจดีถึงสภาพปัญหาดังกล่าวและไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น  โดยขณะนี้ สพฐ.ได้ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางไปแล้ว โดยขอให้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งการจ้างเหมาบริการเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งขณะนี้ต้องรอกรมบัญชีกลางตอบกลับว่าเรื่องที่ สพฐ.เสนอไปมีความเป็นไปได้หรือไม่  และหากกรมบัญชีกลางตอบกลับมาว่าการขอปรับเปลี่ยนตำแหน่งดังกล่าวสามารถทำได้ สพฐ.ก็จะขอกำหนดตำแหน่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อีกทั้งเมื่อเปลี่ยนตำแหน่งได้แล้วการจ่ายค่าตอบแทนก็อยู่กันคนละหมวดด้วย เพราะเมื่อเป็นตำแหน่งลูกจ้างแล้วจะต้องเป็นการจ้างด้วยงบบุคลากร  ซึ่งจะต้องไปผูกพันกับสำนักงบประมาณในการตั้งงบใหม่  ทั้งนี้ที่ผ่านมา สพฐ.ติดตามแก้ไขปัญหาให้ตลอดแต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนของระบบราชการ แต่จากนี้ สพฐ.จะทำงานติดตามเรื่องนี้ให้รวดเร็วมากขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงในวิชาชีพของลูกจ้าง