เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. ในพื้นที่เขตราชเทวี โดยมี นายสบโชค ณ ศรีโต ผอ.เขตราชเทวี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตราชเทวี สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
ประกอบด้วย ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัทเอกชน ถนนริมทางรถไฟ โดยกำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ปรับปรุงรั้วโดยรอบแพลนท์ปูนให้มีความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร ด้านล่างเป็นรั้วถาวรความสูง 2 เมตร ด้านบนเป็นรั้วชั่วคราวความสูง 4 เมตร ย้ายบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนมาอยู่ด้านหน้าทางเข้าออก ปรับปรุงบ่อคายกากคอนกรีตใหม่ โดยแบ่งเป็นบ่อคายกากคอนกรีตและบ่อตกตะกอนแยกออกจากกัน ตรวจสอบไม่ให้มีตะกอนสะสมจนทำให้น้ำปูนล้นออกมา ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษหินดินทรายตกค้าง ตรวจวัดค่าควันดำรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนดนอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะประเภทสถานที่ก่อสร้าง 4 แห่งในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณวัดมะกอก ซอยราชวิถี 18 ถนนราชวิถี ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ ตั้งวางไม้ดอกไม้ประดับ ตั้งวางม้านั่ง เครื่องออกกำลังกาย ติดป้ายชื่อสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 10 แห่ง นอกจากนี้ เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาที เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวน 15 นาที แยกอุรุพงษ์ ซอย 18 พื้นที่ 1 งาน 44 ตารางวา และ 2.สวน 15 นาที โค้งรถไฟยมราช พื้นที่ 75 ตารางวา ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานขอใช้พื้นที่
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนวัดมะกอก ซอยราชวิถี 18 มีบ้านเรือน 164 หลังคาเรือน ประชากร 550 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเก็บขยะเศษอาหารและเปลือกผลไม้ นำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ รวบรวมไว้ขายเป็นรายได้ของแต่ละครัวเรือน 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บทุกวันโดยชักลากออกจากชุมชน 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย แจ้งเขตฯ จัดเก็บ

สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 19,200 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 15,360 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 2,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 1,340 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณซอยรางน้ำ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 15 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 454 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้าตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 67 กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ตรวจสอบพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ ริมถนนอโศก-ดินแดง สวนการรถไฟ แอร์พอร์ตเรลลิงก์มักกะสัน ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาทำความสะอาดจัดเก็บขยะ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตั้งกล้อง CCTV ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ผลักดันคนเร่ร่อนออกจากพื้นที่ ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามทิ้งขยะ ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ กทม. มอบหมายให้เขตฯ ประสานหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลักลอบนำเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างหรือขยะชิ้นใหญ่มาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าว.