จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติแต่งตั้งข้าราชการจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นเจ้าพนักงานตามมาตรา 42 พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ตามระเบียบว่าด้วยการสืบสวนไต่สวน 7 ราย มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2567 พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 7 คน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ประกอบด้วย ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. เป็นประธานกรรมการสืบสวนและไต่สวน พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจน์นิรันด์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน นางสุทธดา คงเดชา ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวน 1 เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน นายชาญชัย สมาคม ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวน 2 เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน นายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการกองคดีการฟอกเงินทางอาญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน นายเอกรินทร์ ดอนดง ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พิเศษของคดีเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน และนายประเคียง เพียรดี ผู้อำนวยการฝ่ายสืบสวนสอบสวน 5 เป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน โดยให้บุคคลทั้ง 7 เป็นคณะอนุกรรมการตามมาตรา 37 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ว่า สำหรับกรณีที่ทาง กกต. ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 ราย ได้แก่ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจน์นิรันด์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการกองคดีการฟอกเงินทางอาญา และนายเอกรินทร์ ดอนดง ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พิเศษของคดีเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมเป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวนนั้น เพื่อให้ดีเอสไอได้ไปดำเนินการในส่วนของคดี ในข้อหาตามมาตรา 77 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับการจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือกระทำการใด ๆ ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือก หรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัคร หรือผู้มีสิทธิเลือก เลือกใครคนหนึ่งคนใด คือ การจูงใจ ซึ่งมันเป็นคนละข้อหากับการฟอกเงินทางอาญา และข้อหาอั้งยี่ ที่ดีเอสไอได้รับไว้เป็นคดีพิเศษก่อนหน้านี้ (คดีพิเศษที่ 24/2568) เนื่องด้วยความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มันเป็นอำนาจของ กกต. และตามกฎหมายของ กกต. จะกำหนดไว้ว่า กกต. สามารถให้เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐเข้ามาเป็นกรรมการไต่สวนได้ เพื่อไต่สวนในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น รับฟังได้หรือไม่ว่ามันมีการทุจริตกันในเรื่องการของการเลือก สว. โดยหากพบว่ามีการทุจริตก็จะได้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีต่อไป ซึ่งถ้ากล่าวง่าย ๆ ให้ชาวบ้านเข้าใจก็คือทำเรื่องการฮั้ว สว.

“มาตรา 77 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ได้มีบทกำหนดโทษแล้วว่าหากใครได้ไปจูงใจให้มีการเลือก สว. ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี” รายงานข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุ

รายงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยด้วยว่า ภายหลังจากที่ กกต. ได้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 ราย เข้าไปเป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน ทราบว่าตอนนี้ยังไม่ได้มีการนัดหมายเพื่อจะประชุมร่วมกัน นอกจากนี้ ตนทราบว่า มาตรา 77 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มันเป็นอำนาจของ กกต. ทำให้ กกต. จึงมีทางเลือก 3 ทาง ได้แก่ 1.กกต. รับไว้ดำเนินการเอง 2.กกต. รับไว้ดำเนินการเอง แต่สามารถให้เจ้าหน้าที่รัฐอื่นมาช่วยพิจารณาได้ 3.กกต. ส่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทน แต่ปรากฏว่า กกต. ได้เลือกวิธีที่ 2 คือ กกต. รับไว้ดำเนินการเอง แต่ก็แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่รัฐอื่นซึ่งก็คือดีเอสไอมาช่วยพิจารณาข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานต่าง ๆ มันมีเพียงพอที่จะสามารถวินิจฉัยได้ว่ามันเป็นความผิดในเรื่องของการจูงใจเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

รายงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจงด้วยว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เข้าร่วมเป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน ดังนั้น รายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ ที่ดีเอสไอได้เคยมีการสืบสวนไว้ หาก กกต. เรียกขอดูสิ่งที่ดีเอสไอได้ดำเนินการไป ดีเอสไอก็ต้องนำเสนอให้ทาง กกต. ได้ดูด้วยทั้งหมดตามกฎหมาย เพื่อที่จะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการไต่สวนฯ ข้อเท็จจริงทั้งหมดนั้นก็จะถูกพิจารณาว่าท้ายสุดแล้วมันเป็นความผิดตามกฎหมายเรื่องของการจูงใจหรือไม่ หากใช่ ก็จะต้องมีการดำเนินคดีและส่งฟ้องศาล แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องของการจูงใจก็ต้องยุติเรื่องไป

รายงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจงต่อว่า สำหรับการเรียก/เชิญบุคคลให้เข้ามาให้ข้อมูลตามมาตรา 77 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 นั้น จะต้องเป็นทาง กกต. เป็นผู้เรียก เพราะ กกต. เป็นเจ้าของเรื่อง รวมถึงหนังสือประสานงานต่าง ๆ ก็ต้องออกมาจาก กกต. และการสอบปากคำบุคคลใดก็ตาม กกต. สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายของตนเองได้ ทั้งนี้ หากคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีการสืบสวนสอบสวนแล้วพบผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางปกครอง หรือทางอาญา แล้วจะต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลใด อำนาจการพิจารณาย่อมเป็นของ กกต. แต่ส่วนใหญ่แล้ว กกต. มักเห็นไปตามกับที่กรรมการสืบสวนและไต่สวนได้พิจารณาดำเนินการไว้ เพราะกรรมการสืบสวนและไต่สวนถือเป็นชุดคณะทำงานที่ได้มีการกลั่นกรองข้อเท็จจริงให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (บอร์ดใหญ่ กกต. ซึ่งมีนายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธาน)

รายงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยอีกว่า ส่วนคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จำนวนรวม 41 ราย โดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อนหน้านี้นั้น จะมีหน้าที่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนความผิดฐานการฟอกเงินทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 รวมทั้งความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งจะดำเนินการแยกส่วนกับทาง กกต. ไม่ถือว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกันแน่นอน

รายงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ ปิดท้ายว่า ข้อมูลเรื่องเส้นทางการเงิน (Statement) ว่าใครเป็นเจ้าของเงิน ให้เงินแก่ใคร หรือตอบแทนเงินแก่ใครบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทางดีเอสไอจะต้องประสานไปยังสถาบันการเงินเพื่อขอดึงธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดของบุคคลที่เชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องมาใช้ในการตรวจสอบขยายผล เราจะไม่รับฟังเพียงข้อมูลเรื่องเล่าลอยในโซเชียลมีเดีย แต่เราต้องใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อดูให้ครบถ้วนรอบด้านว่าการจ่ายเงินดังกล่าวเป็นการจ่ายเงินด้วยวิธีการใด มันจึงต้องมีการสอบสวนเกิดขึ้น เพื่อให้มีตัวบุคคลขึ้นเป็นพยานในชั้นศาลได้.