จุดเริ่มต้นเกิดจาก ความชอบ ความสุขและทำทุกอย่างเป็นฮอบบี้ แบบไม่คาดหวังผล  ทว่าผลแห่งการกระทำนั้น ทำให้ แป้ง คงสิริ ผู้ออกแบบและเจ้าของกระเป๋าแบรนด์  PANGA ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้ใช้ในแดนอาทิตย์อุทัย

คุณแป้ง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานว่า ชอบด้านอาร์ตและชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่โรงเรียนมาแตร์เดอีฯ พอเรียบจบนิเทศศาสตร์ ด้านประชาสัมพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ ที่สหรัฐอเมริกา หลังแต่งงาน ใช้เวลาดูแลลูก เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีอะไรทำ แต่ได้มีโอกาสเห็นความงาม และเรื่องราวที่มีเสน่ห์ของผ้าโขมพัสตร์ นำผ้าโขมพัสตร์มาตัดชุดให้ลูกสาวใส่ จนขยับกลายเป็นชุดพ่อแม่ลูกและทำชุดจัดแสดงในงานแฟชั่นโชว์ให้มูลนิธินมแม่ จากนั้นเลือกลายผ้าโขมพัสตร์แนวน่ารัก เหมาะกับการมาทำเสื้อเด็ก ทำเสื้อลูก เสื้อพ่อขาย มีคนให้ความสนใจ จากนั้นแตกไลน์มาทำกระเป๋า กางเกงชาวเล เสื้อผ้าวัยรุ่นใช้โทนผ้าให้เหมาะ โดยยึดพื้นฐานการทำตามใจตัวเอง ทำเป็นฮอบบี้ที่สนุก และเน้นการเห็นชิ้นงานจริงจัง

จากจุดเริ่มต้นที่คิดเพียงทำทุกอย่างเป็นเพียงฮอบบี้ กลายเป็นการขยับขยายออกแบบกระเป๋าใส่ดินสอ สมุดปกลายผ้าโขมพัสตร์ กระเป๋าเครื่องสำอาง โดยใช้โทนสีตัดกันวางขายที่ร้านลอฟต์ ซึ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจ และติดต่อเข้ามาเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น จากนั้นเริ่มลงขายในแคตตาล็อก ขยายเป็น Pop-up shop ในห้างเซบุ ทาคาชิมายะ ล่าสุดขยายไปทางสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่นทางช่อง Shop Channel TV

คุณแป้งยังบอกอีกว่า “ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ได้เกิดความคาดหวัง ทำเพราะสนุก และความที่เรามีความสุข จากการไม่ได้คาดหวัง เป็นคนคิดเวิร์สก่อน ไม่ได้คาดหวัง เราเลยแฮปปี้ แป้งสั่งผ้าโขมพัสตร์มาทำชิ้นงานของเรา แล้วขายญี่ปุ่น PANGA (แพงก้า) เป็นชิ้นงานที่แป้งใช้ผ้าโขมพัสตร์ซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจโดยเฉพาะลายที่เกิดขึ้น คือ การพิมพ์ลายด้วยมือ มาออกแบบทำกระเป๋า ในแบบสไตล์ของแป้ง ที่เป็นรูปแบบทันสมัย มีสีสัน เป็นเอกลักษณ์ แป้งเลือกลายผ้า ที่มีรายละเอียดในการเลือก ทั้งลาย สี เพื่อมาทำเป็นคอลเลกชั่นในแต่ละปีจะเลือก 5 สี 5 ลาย เหมาะกับการใช้กับชีวิตประจำวัน เราดึงผ้าออกมาเป็นเบลล์แบ็ก กระเป๋าใส่กล่องข้าว  กระเป๋าที่เราทำดีไซน์ต้องมีฟังก์ชันการใช้งานที่โดดเด่น การใช้งาน คีย์สำคัญคือ เราต้องรู้ว่า ทุกขั้นต้องคอนโทรลเยอะมาก กว่าจะออกแต่ละชิ้นงาน 19 ปี แพงก้าค่อยเติบโตเห็นในญี่ปุ่น มีคนชอบงานเรา เราก็ดีใจ ปลื้ม เราทำเพื่อเป็นฮอบบี้ ความสนุก จากนี้อาจนำผ้าไทยในท้องถิ่นมาทำ เช่น แพงก้าผ้าบาติก แพงก้าผ้าไทย จะเป็นอีกหลาย ๆ เวอร์ชั่น”

ความสุขจากการทำงาน หรือทำทุกอย่างด้วยใจ คุณแป้งให้มุมมองว่า “ทำเท่าไหร่ไม่เหนื่อย ทำแล้วมีความสุข บางคนทำงาน ถ้าไม่ชอบจะมองแต่นาฬิกาว่า เมื่อไหร่จะเลิกงาน  แต่แป้งมีความสุข ในการจัดร้าน จับผ้ามาดูลาย ออกแบบกระเป๋า เรามีความสุขที่ไม่เหนื่อย ในแต่ละวัน สามารถควบคุมเวลาได้ อยากทำเราก็ทำ แป้งไม่ได้คาดหวังอะไรมากมาย คิดว่าเราทำอะไรที่เรามีความสุข ถ้าเราอยากเห็นอะไรที่เห็นผล ต้องลงมือทำเลย ไม่อย่างนั้นมันไม่เกิดผล ไม่ต้องคิดมาก ว่าจะขายได้ไหม ทำดีไหม เราต้องทำเลย ทำได้เท่าที่เราทำได้และมีความสุข ทำให้มันเกิดขึ้นมาว่าฉันอยากเห็นสิ่งที่ฉันคิด อยากเห็นผลงาน เวลาที่แป้งเห็นผ้าที่มีลายสวย ๆ มองออกว่า ผ้าแต่ละลายเหมาะกับทำผลิตภัณฑ์อะไร ลายผ้าคืองานศิลปะบนผ้ามีความสวย แป้งทำแบบฮอบบี้ แต่สิ่งที่ได้มาคือกำไรชีวิตจากสิ่งที่ทำ แต่ละคนชีวิตไม่เหมือนกัน มีความโดดเด่นและฉายแสงต่างกัน บางคนรักการปั้นหม้อมาก เขาปั้นสวย วันหนึ่งงานของเขาอาจจะโดนตาของใครสักคนก็ได้ เราต้องคิดแล้วทำเลย และทำด้วยความสุข”