ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายครั้งหลังจากที่เรากินอาหารจานหลักจนอิ่มแปล้แล้ว แต่เมื่อมีการเสิร์ฟของหวานตามมาก็ยังสามารถกินได้อีก พฤติกรรมเช่นนี้อาจไม่ได้เกิดจากความตะกละหรือความชื่นชอบของหวานๆ แต่มีเหตุผลอยู่เบื้องหลัง

ทีมวิจัยล่าสุดเผยผลงานที่คาดว่าจะเฉลยปริศนาความ “อยากกินของหวานหลังมื้ออาหาร” นี้ได้ อีกทั้งชี้ว่าสาเหตุของพฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจมาก

ทีมวิจัยเรียกความอยากกินของหวานทั้งที่กินมื้อใหญ่ไปแล้วว่าเป็น “กระเพาะสำหรับของหวาน” (Dessert stomach) และชี้ว่า สาเหตุไม่ได้อยู่ที่กระเพาะอาหาร แต่อยู่ที่สมอง

การศึกษาล่าสุดจากสถาบันวิจัยมักซ์พลังค์เกี่ยวกับกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกายแห่งประเทศเยอรมนีได้ศึกษาถึงผลกระทบของการบริโภคน้ำตาลเมื่อเรากินอิ่มแล้ว ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าเซลล์ประสาทไฮโปทาลามัสโปร-โอปิโอเมลาโนคอร์ติน (POMC) ซึ่งอยู่ในสมองส่วนของไฮโปทาลามัส (สมองที่ควบคุมฮอร์โมนและควบคุมความรู้สึก เช่น ความหิว ความกระหาย ความง่วงนอน และความรู้สึกอิ่ม) เป็นศูนย์กลางของ “ความอยาก” นี้

พวกเขาค้นพบว่า POMC มีบทบาทสำคัญสองด้าน กล่าวคือ แม้มันจะช่วยให้เรารู้สึกอิ่มเมื่อกินเพียงพอแล้ว แต่ก็ยังส่งสัญญาณความอยากกินของหวานตามมาได้ด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่การกินมากเกินไป และดูเหมือนว่าแม้แต่การคิดหรือแค่เห็นขนมก็สามารถกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทเหล่านี้ให้ปล่อยสารเคมีที่เรียกว่าเบตาเอนดอร์ฟิน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ ออกมาได้

“จากมุมมองด้านวิวัฒนาการ เรื่องนี้สมเหตุสมผล น้ำตาลเป็นของหายากในธรรมชาติ แต่ให้พลังงานอย่างรวดเร็ว สมองจึงถูกตั้งโปรแกรมให้บริโภคน้ำตาลเมื่อใดก็ตามที่มีน้ำตาล” เฮนนิ่ง เฟนเซเลา หัวหน้ากลุ่มวิจัยที่สถาบันมักซ์พลังค์ฯ กล่าวในรายงานข่าวที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชน

“ความอยากกินของหวานแม้ในขณะที่อิ่มเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ” ดร. บริตตา ไรเออร์สัน แพทย์ประจำครอบครัวและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ด้านโรคอ้วนกล่าว “น้ำตาลช่วยเพิ่มพลังงานอย่างรวดเร็วตามธรรมชาติ ดังนั้น แรงกระตุ้นในการบริโภคน้ำตาลแม้ในขณะที่อิ่มอาจเป็นประโยชน์ต่อการเอาชีวิตรอด”

นอกจากนี้ ไรเออร์สันกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสุขและรางวัลกับการบริโภคน้ำตาล “ระบบการให้รางวัลของสมองจะถูกกระตุ้นโดยน้ำตาล โดยปล่อยสารเคมีที่กระตุ้นให้เกิดความสุข ซึ่งทำให้การกินของหวานเป็นเรื่องเกินต้าน” เธออธิบาย “ความอยากนี้อาจรุนแรงขึ้นเมื่อเรารับรู้หรือลิ้มรสของหวาน ทำให้เกิดความอยากกินเพิ่มขึ้น แม้ว่าเราจะอิ่มแล้วก็ตาม”

ที่มา : yahoo.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES