เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ภาพรวมการคมนาคมขนส่งไม่ได้รับความเสียหาย จากเหตุแผ่นดินไหว แต่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้องเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อกโดยได้สั่งหยุดบริการระบบขนส่งมวลชนในส่วนของทางอากาศ ซึ่งให้ปิดสนามบิน และหยุดทำการบินขึ้น-ลงชั่วคราว รวมถึงได้สั่งหยุดให้บริการรถไฟฟ้า และรถไฟทั่วประเทศชั่วคราว นอกจากนี้ยังได้สั่งปิดทางขึ้นลงด่านดินแดง ทางพิเศษ (ด่วน) เฉลิมมหานคร เนื่องจากมีเศษวัสดุจากอาคารข้างเคียงหล่นใส่พื้นทางด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งหมด และมุ่งหวังให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยระดับสูงสุด รวมถึงยังต้องเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อกด้วย

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ได้ประสานงานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อร่วมดำเนินการตรวจสอบระบบ และตรวจสอบโครงสร้างรถไฟฟ้าทั้งหมด เบื้องต้นจะทำการตรวจสอบไปจนถึงช่วงเช้าวันที่ 29 มี.ค. 68 หากไม่พบความผิดปกติ จะเปิดให้ประชาชนได้ใช้งานทันที แต่หากพบว่าการตรวจสอบโครงสร้างยังไม่มีความชัดเจน อาจต้องเพิ่มระยะการตรวจสอบออกไปอีก ซึ่งจะแจ้งให้ประชาชนได้สอบข้อมูลเป็นระยะ 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากนั้นในเวลาประมาณ 14.30 น. ได้สั่งให้เปิดให้บริการทางอากาศ เครื่องบินขึ้นลงได้ตามปกติ แต่อาจจะล่าช้ากว่าปกติเล็กน้อย พร้อมกันนี้ได้สั่งให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระดมรถเมล์ 2,600 คัน ให้บริการผู้โดยสาร อำนวยความสะดวกประชาชนในทุกเส้นทาง รวมทั้งจัดรถเฉพาะกิจ (ชัตเติ้ลบัส) รับส่งผู้โดยสารตามสถานีรถไฟฟ้า และสถานีขนส่งต่างๆ อาทิ สถานีขนส่งหมอชิต, สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีหัวลำโพง เป็นต้น

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีข่าวลือที่ทำให้ประชาชนตื่นตกใจ อาทิ ถนนพระราม 2 ยุบและเป็นคลื่น ซึ่งจากการรายงานของกรมทางหลวง (ทล.) ที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบยืนยันว่า ผิวจราจรไม่ยุบ ไม่มีคลื่น สามารถใช้งานได้ตามปกติ เช่นเดียวกับสะพานภูมิพลที่มีข่าวสลิงสะพานขาด และปิดใช้งาน ซึ่งกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ตรวจสอบแล้ว พบว่า โครงสร้างยังมั่นคงแข็งแรง ไม่มีลวดสลิงขาด ได้รับผลกระทบเกิดรอยร้าวเพียงเล็กน้อยที่แผ่นแบริเออร์ของราวสะพานเท่านั้น ขณะที่สะพานพระราม 9 และสะพานพระราม 3 ก็ยังเปิดให้บริการตามปกติ

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ในส่วนของขนส่งระบบรางได้สั่งปิดให้บริการทั้งหมด และให้ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 8 สายตรวจสอบโครงสร้าง ตัวรถไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณทั้งหมด ซึ่งได้รับรายงานเบื้องต้นว่ายังไม่ได้รับความเสียหาย แต่ยังคงต้องตรวจสอบเป็นระยะและเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อก รวมถึงประเมินสถานการณ์เป็นระยะก่อนกลับมาเปิดให้บริการ.