หลังเกิดเหตุ ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร มีศูนย์กลางบริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ห่างจากอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน 320 กิโลเมตร จนเกิดแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมี อาฟเตอร์ช็อก ตามมาแล้ว 93 ครั้ง ณ เวลา 10.19 น. ของวันที่ 29 มี.ค. แบ่งเป็น ขนาด 1.0-2.9 จำนวน 20 ครั้ง ขนาด 3.0-3.9 จำนวน 39 ครั้ง ขนาด 4.0-4.9 จำนวน 29 ครั้ง ขนาด 5.0-5.9 จำนวน 4 ครั้ง ขนาด 6.0-6.9 จำนวน 0 ครั้ง และ ขนาด 7.0 ขึ้นไป จำนวน 1 ครั้ง
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ จนถึงปัจจุบัน จึงเกิดคำถามที่ว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุนั้นทำไมไม่มี SMS แจ้งเตือน และบางคนได้รับ SMS เตือนช้าหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นหลายชั่วโมงแล้ว ติดขัดตรงไหน? ทำไมก่อนหน่านี้ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ สำนักงาน กสทช. ร่วมมือกับค่ายมือถือ ทดลองสาธิต “เซลล์ บรอดแคสต์” (Cell Broadcast) เตือนภัยผ่านมือถือมาแล้ว แต่ทำไมระบบยังล่าช้า วันนี้ เดลินิวส์ พามาหาคำตอบกัน!!

เซลล์ บรอดแคสต์ คืออะไร
พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยที่สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนภัยทุกประเภทให้กับประชาชน ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ด้วยการส่งข้อความแบบเจาะจงในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด (เซลล์ บรอดแคสต์) ได้ทันที หมายความว่า หากมีการส่งในพื้นที่แจ้งเตือนในพื้นที่ เช่น จ.ชลบุรี ผู้ใช้งานมือถือ ไม่ว่าจะของค่ายใดที่อยู่บริเวณนั้น จะได้รับการแจ้งเตือนผ่าน SMS ในทันที
ระบบ เซลล์ บรอดแคสต์ ทำงานอย่างไร
สำหรับ เทคโนโลยี ระบบของ เซลล์ บรอดแคสต์ ประกอบไปด้วยระบบ 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการและดูแล โดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหา และพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)
และฝั่งที่ 2 : ดำเนินการและดูแล โดย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความ ไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และการบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)

ตอนนี้ประเทศมีระบบนี้ใช้แล้วหรือยัง?
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีนโนบายให้จัดทำ เซลล์ บรอดแคสต์ ที่ประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อ 14 ส.ค. 67 มีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงินการจัดทำระบบ เซลล์ บรอดแคสต์ เฉพาะเงินสนับสนุนระบบ เซลล์ บรอดแคสต์ เซ็นเตอร์ (ซีบีซี) คอร์ เน็ตเวิร์ก เรดิโอ เน็ตเวิร์ก และค่าบำรุงรักษา ระยะเวลา 3 ปี จำนวน 1,030,961,235.54 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนยูโซ่) ให้กับผู้ให้บริการมือถือ คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทียูซี บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น และบริษัท โทรคมาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที จากนั้นให้คำค่าใช้จ่ายที่เกิดจาการพัฒนาระบบตามจริง มาหักลดหย่อนเงินที่นำส่งกองทุนยูโซ่ในแต่ละปี
ปภ. รับผิดชอบ ระบบ CBE ของภาครัฐ
ในส่วนของระบบ เซลล์ บรอดแคสต์ เอนทิตี้ หรือ ซีบีอี (Cell Broadcast Entities : CBE) นั้น ทาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งมีการตั้งงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 400 ล้านบาท ขณะที่ กระทรวง ดีอี จะรับผิดชอบสนับสนุนในส่วนของระบบคลาวด์ เซิร์ฟเวอร์ และการเชื่อมต่อระหว่าง CBE และ CBC
โดยทาง ปภ. เคยแจ้งกับ กสทช. ว่า ทาง ปภ. จะมีการพัฒนาระบบแล้วเสร็จเพื่อใช้งานใน 9-12 เดือน หรือสามารถเริ่มใช้งานได้ประมาณกลางปี 68 โดยกระบวนการอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างระบบ เมื่อพัฒนาเสร็จ จะมีการเชื่อมต่อระบบ ระหว่าง CBE และ CBC เขาด้วยกันเพื่อใช้งานได้
ค่าบมือถือ ทำระบบ CBC เสร็จแล้วรอเชื่อมต่อ CBE
ที่ผ่านมาทาง กสทช. และค่ายมือถือทั้ง 3 คือ เอไอเอส ทรู และเอ็นที ได้ทำระบบ CBC เสร็จแล้ว และได้เคยจัดทดสอบของแต่ละค่ายมือถือเอง และที่ จ.ภูเก็ต กับทาง สำนักงาน กสทช. โดยระบบสามารถออกแบบการแจ้งเตือนได้ทุกภาษา และออกแบบส่งพร้อมกันได้ทันที โดยทดสอบแล้ว 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย

ขั้นตอนการส่งข้อความแจ้งเตือน
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) บอกว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะเป็นผู้กำหนดข้อความ และส่งมายังสำนักงาน กสทช. ขอให้ประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือช่วยส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนประชาชน ซึ่งในปัจจุบันที่ระบทางฝั่ง ปภ. ยังดำเนินการไม่เสร็จ จึงทำให้การส่งข้อความ SMS ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีข้อจำกัดจำนวนการส่งต่อครั้งไม่เกินประมาณ 200,000 เลขหมาย
“ระบบเตือนภัย (Cell Broadcast) ผู้ที่เป็นหลักในการจัดทำระบบ จัดหาผู้ดำเนินการ และผู้กำหนดข้อความ คือ ปภ. ส่วนสำนักงาน กสทช. เป็นเพียงผู้สนับสนุนงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือพร้อมในเรื่องระบบแล้ว เหลือรอระบบจาก ปภ. หากยังดำเนินการไม่ได้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือก็ยังดำเนินการไม่ได้ เพราะระบบจะเชื่อมต่อกัน ซึ่งบางอย่างอาจไม่ได้รวดเร็วในทันทีเพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ทุกคนก็พร้อมเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่” นายไตรรัตน์ กล่าว

สรุปแล้ว ตอนนี้ ผู้สนับสนุนเงินพร้อม เอกชนพร้อม แต่ภาครัฐยังทำระบบไม่พร้อม จึงทำให้เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินภัยพิบัติแบบนี้ จึงเกิดคำถามตามมาว่าเมื่อไร ประเทศไทยจะมีระบบเตือนภัย Cell Broadcast เสียที หวังว่าเมื่อถึงกลางปี 68 ตามกำหนด เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นอีก จะไม่เกิดคำถามจากประชาชนว่า ….“SMS เตือนภัย” จะส่งมากี่โมง?
จิราวัฒน์ จารุพันธ์