เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 31 มี.ค. ที่ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.เสาชิงช้า เขตพระนคร น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า สถานการณ์จากศูนย์เอราวัณ กรณี เหตุแผ่นดินไหว ในพื้นที่กทม. ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 68 เวลา 17.20 น. มีผู้รวมได้รับบาดเจ็บรวม 33 ราย เสียชีวิต 19 ราย ขณะที่ เมื่อเวลา 12 .00 น.ของวันนี้ได้พบสัญญาณชีพและสามารถนำออกมาได้แต่เป็นที่น่าเสียใจที่เป็นผู้เสียชีวิต ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น1 ราย ทั้งนี้ ยอดรวมผู้เสียชีวิตเฉพาะพื้นที่ของอาคารสตง. เขตจตุจักร มีจำนวน 12 ราย แม้ว่าตอนนี้จะผ่าน 72 ชม. ตามหลักการทางการแพทย์ที่โอกาสในการรอดชีวิตจะมีค่อนข้างสูงนั้น เราไม่ได้หยุดการค้นหา ปฏิบัติการช่วยชีวิตยิ่ง จะต้องมุ่งเน้น ให้สามารถเข้าถึงผู้ที่รอดชีวิตให้เร็วที่สุดขณะเดียวกัน จะต้องแม่นยำสูงมากเพราะผู้มีโอกาสรอดชีวิตอยู่จะมีอาการอ่อนแอลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป

หลังจากการที่วิเคราะห์พื้นที่ช่วงแรก ซึ่งทำให้การเข้าพื้นที่อาจมีระยะเวลาที่ต้องผ่านจากการวิเคราะห์ของทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญก่อนทำให้ครั้งนี้ กทม.กำลังพิจารณาที่จะยกเลิกระดับสาธารณภัย ระดับ 2 ที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่กทม. เนื่องจากสถานการณ์ในตอนนี้ พื้นที่อื่นที่ไม่ใช่พื้นที่อาคารสตง.นั้น สถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

“ซึ่งเมื่อเรายกเลิกสาธารณภัยระดับ 2 จะทำให้เราสามารถย้ายศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กลาง ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ ศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้า พร้อมกับองคาพยพของการบริหารจัดการ ผู้อำนวยการสาธารณภัยกทม. ไปรวมกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์หน้างานในพื้นที่เขตจตุจักร ซึ่งอยู่รอบนอกของพื้นที่อาคารสตง. ที่มีความเสียหาย จะทำให้เราสามารถ กำกับควบคุมสถานการณ์ได้เพื่อโฟกัสในการเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยออกมาให้ได้มากที่สุด”

รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เนื่องจากในบริเวณเขตจตุจักรที่อาคาร สตง. อยู่ถนนกำแพงเพชร 2 ยังเป็นศูนย์ปฏิบัติการเต็มรูปแบบ อยู่ในการค้นหา และช่วยชีวิตก็คงต้องแจ้งให้ประชาชนยังคงหลีกเลี่ยงการจราจรในบริเวณนั้นก่อน

ส่วนการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารนั้นกรมโยธาธิการและผังเมือง ตลอดจนวิศวกรของกทม. ยังดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับแจ้งจากประชาชนอยู่ หากสำรวจที่พักอาศัย แล้วไม่มั่นใจส่งภาพมาที่ Traffy Fondue ได้เช่นเดิม

ซึ่งการแจ้งเหตุอาคารที่มีรอยร้าวของประชาชนมีจำนวน 14,430 เคส ในจำนวนนี้ กทม. สามารถที่จะจัดการตรวจสอบเหลือเพียง 2,426 เคส เป็นอาคารสีเขียว 11,517 เคส โดยกทม.ยังแจ้งระงับการใช้อาคาร ซึ่งเป็นอาคารที่มีความเสี่ยงสูงเพียง 2 อาคาร โดยได้จัดหาที่พักให้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ได้มีหนังสือแจ้งเข้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร ให้ดำเนินการประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าตรวจสอบ โดยแจ้งเจ้าของอาคารแล้ว 5,000 โครงการ แจ้งว่าปลอดภัยต่อการใช้งาน 700 โครงการ ประชาชนสามารถติดตามอาคารที่ทำการตรวจอาคารแล้ว ซึ่งกทม.เปิดเว็บไซต์ http://openpolicy.bangkok.go.th/bkkbuilding.html จะได้มั่นใจยิ่งขึ้น

และมีหนังสือแจ้งเข้าของอาคาร ผู้รับเหมาให้ระงับการใช้เครน จนกว่าจะมีการตรวจสอบ ซึ่งจำนวนเครนมีจำนวน 201 โครงการ

การดูแลช่วยเหลือประชาชน และการเยียวยา/การช่วยเหลือ กทม.เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 แห่ง คือ 1. ศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง รองรับได้ 70 คน เข้าพัก 21 คน ว่าง 49 ที่ 2.ศูนย์พักพิง โรงเรียนวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร รองรับได้ 150 คน ว่าง 150 ที่ และ 3.ศูนย์พักคอยญาติผู้ประสบภัย เขตจตุจักร เข้าพัก 39 คน หากในระยะนี้ประชาชนยังมีความกังวลใจ ไม่สบายใจ เกรงจะไม่ปลอดภัยก็สามารถมาพักที่ศูนย์พักพิงได้.