ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ในประเทศเมียนมา โดยแรงสั่นสะเทือนบางส่วนรับรู้ได้ถึงประเทศไทย รวมถึงในพื้นที่ จ.ขอนแก่น โดยเฉพาะภายในอาคารสูงของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า มข.ได้สร้างระบบแจ้งเตือน โดยใช้ระบบอัจฉริยะ KKU IntelSphere ออกแบบ KKU Emergency Alert แจ้งเตือนแผ่นดินไหวพิกัดไม่เกิน 2,000 กิโลเมตร ผ่าน Google Chat เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษาและบุคลากรกว่า 50,000 คน ซึ่งในการสร้างระบบแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหว KKU Emergency Alert โดยดึงข้อมูลจาก U.S. Geological Survey (USGS) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ในการส่งการแจ้งเตือนผ่านระบบ KKU Google Chat รวมถึงดึงข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย มาใช้งานเพื่อเฝ้าระวังและเปรียบเทียบ โดยมีโปรแกรมให้มีการประมวลผลการแจ้งเตือน ทุก 1 นาที และจะมีการแจ้งเตือนผ่านระบบ Google Chat ในทันทีหากเข้าเงื่อนไขที่ตั้งเตือนไว้

“ปัจจุบันตั้งไว้ที่ 5 ระดับ คือระดับ 1 ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ระดับ 2 คือเพียงรู้สึกได้ ระดับ 3 คือเริ่มรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนและควรจะต้องหลบ ระดับ 4 และ 5 ก็คือระดับรุนแรง ซึ่งขณะนี้ในข้อความที่ส่งไป จะมีคำแนะนำถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแนบเข้าไปด้วย เพื่อจะได้ระมัดระวังให้ถูกต้องและไม่กลัวจนเกินไป เช่นเกิดเหตุ 5.0 ที่พม่า เมื่อมาถึงเราก็ไม่ต้องกังวลอะไร เพียงแต่รู้ไว้ก็ดี เพื่อบอกเตือนต่อญาติพี่น้องที่อื่นได้”

ผศ.ดร.เด่นพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ในสภาวะฉุกเฉิน เช่นไฟไหม้,กราดยิง หรือระบบอินเทอร์เน็ตล่ม เกิดพายุ ซึ่งยังไม่มีแผน เรื่องแผ่นดินไหวเพราะยังไม่เคยเกิดเหตุขึ้น แต่พอมีเหตุแผ่นดินไหว ถึงแม้จะไม่ได้รุนแรงในพื้นที่อีสาน แต่ความตกใจของประชาชนมีสูง ทั้งของบุคลากรและนักศึกษา ซึ่งหากบุคลากรหรือนักศึกษาดูข้อมูลก่อนเพื่อเป็นการเตือนภัยก็จะมีความสบายใจขึ้น จึงได้คิดสร้างโปรเจกต์นี้ขึ้นมา ทั้งนี้เหตุที่เลือกใช้ Google Chat เนื่องจาก ระบบในมหาวิทยาลัย มีการใช้ ระบบ Google workspace ทั้งมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ทั้งบุคลากรและนักศึกษา จำนวนประมาณ 50,000 คน แยกเป็นนักศึกษาประมาณ 40,000 คน และบุคลากร 10,000 คน จะมี user ประจำตัวอยู่แล้วซึ่งสะดวกต่อการใช้งาน และแจ้งส่งข้อความ เข้าสู่ระบบ เหตุที่ไม่ใช้ระบบ Line เนื่องจาก LINE ถูกใช้สำหรับการสื่อสารทั่วไป และอาจทำให้เกิดความสับสนได้หากส่งแจ้งเตือนไป จึงเลือกใช้แพลตฟอร์มที่ไม่ได้ใช้งานเป็นประจำ เช่น Google Chat หรือ Telegram เพื่อแยกแยะการสื่อสารทั่วไปและสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างชัดเจน ทั้งนี้โดยระบบ Google แชทเอง เหมาะสำหรับหน่วยงานหรือองค์กร ที่มีการ นำผู้ใช้ หรือ User เข้าไปในระบบอยู่แล้ว ทำให้สามารถ ใช้งานได้เลยทันที

“สำหรับ KKU Emergency Alert ตั้งค่าระยะห่างรัศมีการแจ้งเตือนไว้ที่ 2,000 กม. จาก มข. พร้อมกำหนดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่ต้องการให้มีการแจ้งเตือน เบื้องต้นตั้งไว้ที่ 4.5 แมกนิจูด และอาจปรับเพิ่มเป็น 6.5 แมกนิจูดในอนาคต โดยระบบจะทำการตรวจสอบข้อมูลทุก ๆ 1 นาที เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที โดยการเข้าถึงระบบการแจ้งเตือนดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยออกแบบนั้น เพื่อเป็นการแจ้งเตือนข้อมูลบุคลากรและนักศึกษาได้อย่างทันท่วงทีเพื่อความปลอดภัย และสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต”

ขณะที่นางรัชฎาวรรณ วัฒนสุข บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุการณ์แรงสั่นสะเทือนก็รู้สึกตกใจ ปนแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น พอทราบว่าเป็นแผ่นดินไหวก็พากันตกใจ และหลังจากมีการทำแชทแจ้งเตือนแล้ว ก็รู้สึกดีมากๆ ที่ได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดในทันทีและทันเหตุการณ์ ว่าเหตุที่เกิดอยู่ในระดับใด เป็นประโยชน์มาก ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจเป็นครั้งแรก ที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังเกิดเหตุทางมหาวิทยาลัยก็มีมาตรการต่างๆออกมา เพื่อให้ทุกคนตระหนักและรับทราบทั่วกัน ทั้งบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้อยากให้พัฒนาถึงประชาชนทั่วไปได้รับรู้ด้วย เพื่อเป็นการเตรียมตัวในการออกจากพื้นที่ หรือเรายังสามารถอยู่ในพื้นที่ได้ด้วยความปลอดภัย