สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองเรดดิง สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ว่า งานวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่า “เมฆ” และการไม่มีเมฆบนท้องฟ้า มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลงของเมฆอาจหมายความว่า แม้มีก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนในปริมาณเท่ากัน “เราก็อาจได้รับความร้อนเพิ่มขึ้นหรือลดลงมาก” นายโรบิน โฮแกน นักวิทยาศาสตร์หลักของศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรป (อีซีเอ็มดับเบิลยูเอฟ) กล่าว

ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตเห็นความไม่สมดุลที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อโลกมีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น เมฆบางก้อนจะลอยสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ และทำให้ปรากฏการณ์เรือนกระจกรุนแรงขึ้น

นายริชาร์ด อัลลัน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยเรดดิง ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เมฆซึ่งสะท้อนแสงน้อยลงจะเปิดรับแสงแดดบนพื้นผิวโลกมากขึ้น และกระตุ้นให้โลกร้อนขึ้นผ่าน “วงจรสะท้อนกลับที่เลวร้าย” เนื่องจากเมฆที่มืดและแผ่กระจายน้อยกว่า ทำให้สมดุลพลังงานของโลกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และส่งผลให้มหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เมื่อปี 2566

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารไซเอนส์ เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า เมฆซึ่งปกคลุมต่ำนั้น มีแนวโน้มเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างผิดปกติ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่า “โลกมีเมฆน้อยลง” โดยมีทฤษฎีหลายประการเกี่ยวกับสาเหตุ

หนึ่งในนั้นคือ “ความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพอากาศ” กำลังเปลี่ยนแปลงการก่อตัว คุณสมบัติ และอายุขัยของเมฆในลักษณะที่ยังไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ขณะที่ละอองลอยในอากาศ อาทิ ฝุ่นที่พัดมาจากทะเลทราย หรือมลพิษจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วยให้เมฆก่อตัวขึ้น และสะท้อนแสงได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ผลงานวิจัยล่าสุดพบว่า “นโยบายอากาศบริสุทธิ์” รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงขนส่งที่มีกำมะถันต่ำ ในปี 2563 ทำให้เมฆที่คอยปกคลุมโลกลดลง ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES