.
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียน (AI-Adaptive) ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนนำร่องในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศเข้ารับการอบรม จำนวน 62 เขต 700 โรงเรียน รวม 1,400 คน เพื่อส่งเสริมศักยภาพครูด้าน AI ด้านเทคนิคการสอน และการใช้แพลตฟอร์ม Adaptive Education Platform ให้ครูสามารถนำไปขยายผลต่อในชั้นเรียน และเป็นการวางรากฐานการใช้ AI สำหรับนักเรียนเพื่อประโยชน์ในอนาคต
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน จึงมีข้อสั่งการให้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI มาช่วยในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะที่จำเป็น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งต้องเร่งทำโดยทันทีเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง ‘เพราะการศึกษารอช้าไม่ได้ ต้องปฏิวัติการศึกษา’ ดังนั้น การใช้เทคโนโลยี AI ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ทันสมัย แต่คือการวางรากฐานให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการเรียนรู้และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้คุม และนำ AI รวมทั้งสร้างเยาวชนที่รู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม มีทักษะการคิดวิเคราะห์ และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
.
สพฐ. พร้อมขับเคลื่อนตามข้อสั่งการของ รมว.ศธ. จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียน (AI-Adaptive) ที่มุ่งเน้นการนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะรู้เท่าทันและสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ประกอบด้วย 1. การพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ AI-Adaptive สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย จำนวน 5 โมดูล 2. การอบรมครูแกนนำจำนวน 1,400 คน จาก 700 โรงเรียน ใน 6 จุดอบรม ครอบคลุม 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ (90 โรง), ภาคกลางและตะวันออก (190 โรง), ภาคอีสานตอนบน (140 โรง), ภาคอีสานตอนล่าง (140 โรง), ภาคใต้ (90 โรง) และพื้นที่พิเศษ EEC (50 โรง) และ 3. การส่งเสริมให้ครูแกนนำนำระบบ AI-Adaptive และเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนอย่างยืดหยุ่น เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันด้าน AI ของประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 จะมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายกว่า 42,000 คน ลงทะเบียนใช้งานระบบ AI-Adaptive โดยมีครูแกนนำเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และระบบยังสามารถรองรับการขยายผลสู่โรงเรียนอื่น ๆ ที่มีความพร้อมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมด้านโอกาสทางการศึกษา
.
“การที่ครูทุกท่านเสียสละเวลามาเรียนรู้ AI ไม่ใช่เพื่อสอนเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เพื่อเปลี่ยนบทบาทของตนเองเป็น ‘ผู้อำนวยการเรียนรู้’ ที่เข้าใจบริบทของผู้เรียน พร้อมนำเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาศักยภาพนักเรียนอย่างเต็มที่ และเป็นผู้ร่วมกันสร้างข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อนำไปเป็น Data ที่เชื่อถือได้ ในการนำไปใช้ AI ในการ Generate หรือ สังเคราะห์ หรือจัดระเบียบข้อมูล รวมทั้งไปต่อยอดทั้งเรื่องการเขียนคำสั่ง ตั้งคำถาม เพืีอไปสู่การแสวงหาความรู้ในสิ่งที่อยากรู้ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อฐานความคิดของนักเรียนต่อไป ในอนาคต ซึ่งจากการอบรมทุกครั้งที่ผ่านมา ดิฉันได้เห็นถึงความตั้งใจของครูทุกท่าน ทั้งในการเรียนรู้แนวคิดใหม่ การทดลองใช้ระบบ AI-Adaptive และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน ทั้งในด้านกระบวนการเรียนรู้ เนื้อหา และการประเมินผล ตรงตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงในทุกพื้นที่ จนเกิดทักษะที่จำเป็น “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” และเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้เตรียมขยายผลระบบ AI-Adaptive ไปยังโรงเรียนทั่วประเทศในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 โดยสนับสนุนให้นำไปใช้เป็น “รายวิชาเพิ่มเติม” ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญของระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะมีการติดตามผลการดำเนินการและคัดเลือกครูเพื่อมอบรางวัล “ครูแกนนำ LEAD Education AI” และรางวัล “ครูแกนนำดีเด่น Elegant LEAD Education AI” เพื่อยกย่องครูผู้มีผลงานโดดเด่นในการบูรณาการเทคโนโลยี AI กับการจัดการเรียนรู้ในเดือนพฤศจิกายน 2568 นอกจากนี้ สพฐ. ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริม “การใช้ AI อย่างรู้เท่าทันและปลอดภัย” โดยได้จัดทำ “คู่มือการใช้ AI สำหรับครู นักเรียน โรงเรียน และผู้ปกครองในประเทศไทย พ.ศ. 2568” ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญเกี่ยวกับความรู้พื้นฐาน ประโยชน์ ข้อควรระวัง จริยธรรม และแนวทางการใช้ AI อย่างมีวิจารณญาณ พร้อมจัดทำในรูปแบบเอกสารหลัก โปสเตอร์ และสื่อภาพประกอบที่สามารถนำไปใช้ในโรงเรียนได้ทันที
.
โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในชั้นเรียน (AI-Adaptive) จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย เตรียมความพร้อมครู นักเรียน และโรงเรียน ให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของพลเมืองในอนาคตอันใกล้นี้