แม้ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จะออกมาชี้แจงว่า กรณีนายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภท. ประกาศกลางสภา จะไม่มีวันยกมือโหวตร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ในฐานะ สส.คนหนึ่ง แต่ในสถานะเลขาธิการของพรรค ภท. ต้องทำตามมติของพรรค ซึ่งพรรค ภท.เป็นพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมและยินดีให้การสนับสนุน

ในทางการเมืองย่อมทำให้ พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำรัฐบาล ซึ่งถือว่านโยบายเป็นเรือธงไปแล้ว ไม่พอใจแน่ๆ อาจต้องหาทางเอาคืนพรรค ภท. ซึ่งก่อนหน้านี้ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” ก็กำลังสอบสวนเรื่องฮั้วเลือก สว. ซึ่งในทางการเมืองใครก็มองว่าสมาชิกสภาสูง มีความใกล้ชิดกับ “พรรคสีน้ำเงิน” ยิ่งก่อนหน้านั้นในระหว่างประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า กฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ได้แปลว่า ประเทศไทยเปิดบ่อนที่ไหนก็ได้ และถูกกฎหมายหมดไม่ใช่เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่มีกาสิโนแค่ 10% ของพื้นที่เท่านั้น และไม่ใช่ นายเอ นายบี นายซี ไปเปิดกาสิโนได้หมดทุกคน ประเทศเต็มไปด้วยกาสิโนทั้งหมด ไม่จริง และเชื่อว่าในช่วง 2 เดือน ซึ่งปิดสมัยประชุมสภา จะพยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคม
นั่นหมายความว่า รัฐบาลยังเดินหน้าต่อ ไม่มีถอย แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะออกอาการไม่เห็นด้วย หรือการเคลื่อนไหวนอกสภา ซึ่งองค์กรต่างๆ แสดงความเห็นค้าน และหากมีการผลักดันจริง เชื่อว่ากลุ่มต่อต้านยังเดินหน้าเต็มที่ เพราะต้องการให้รัฐบาลยุติการผลักดัน เพราะมองว่า การผลักดันเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป้าหมายที่แท้จริงคือผลักดันกาสิโน นอกจากนี้ยังต้องเสี่ยงกับข้อกฎหมาย หากมีใครไปร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญ (รธน.) และขัดจริยธรรม ซึ่งต้องยอมรับการผลักดันเรื่องกาสิโนถือเป็นปมร้อนจริงๆ

อย่างไรก็ตาม “น.ส.แพทองธาร” กล่าวถึงการทำความเข้าใจกับนายอนุทิน หลังเลขาธิการพรรค ภท. อภิปรายในสภา คัดค้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มีกาสิโนแค่ 10% ว่า จริงๆ แล้วคิดว่าไม่น่ามีอะไร ที่ผ่านมามีหลายเรื่องหลายประเด็น อาจทำให้เกิดความสับสนได้ ให้เป็นเรื่องของพรรค ภท.ไปเคลียร์กันเอง เมื่อถามย้ำว่าในฐานะคนรุ่นใหม่เหมือนกับนายไชยชนกจะมีโอกาสพูดคุยกันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า พูดคุยได้อยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไรกัน แต่ต้องบอกกับประชาชนว่าการไปอยู่หน้ากล้องหรือในสภามีแรงกดดัน คนไปพูดก็ตื่นเต้น อาจมีหลายประเด็นที่พูดถึงได้ อาจไม่ได้ออกมาอย่างที่ตั้งใจ มันเกิดขึ้นได้ เมื่อถามต่อว่ายังเชื่อมั่นว่าพรรค ภท. จะคุมกันได้ นายกฯ กล่าวว่า “ค่ะ ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนั้น คิดว่าพรรคร่วมรัฐบาล นโยบายต่างๆ ก็เสนอต่อรัฐสภาด้วยกัน คิดว่าน่าจะพูดคุยกันทำความเข้าใจ อะไรอยากให้ปรับลด ไม่สนับสนุนเรื่องความขัดแย้งอยู่แล้ว เพราะประเทศจะไปต่อยาก อะไรคุยกันได้ก็คุย เป็นแบบนั้นดีกว่า ไม่อยากจะสมมุติต้องทะเลาะกัน ตื่นมาเราทำงานก็ไม่สดชื่น ไม่สดใส เจอหน้ากันก็จะแปลกๆ ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น”
ด้าน “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้ความเห็น กรณีเลขาธิการพรรค ภท. ประกาศไม่มีวันเห็นด้วยกับกาสิโนว่า กฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่อยากให้บิดเบือน ไม่ใช่กฎหมายกาสิโน กรณีของนายไชยชนก ไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วคุณอนุทิน หรือคุณไชยชนก ใครเป็นหัวหน้าพรรค เพราะในที่ประชุมหัวหน้าพรรคต่างๆ เราคุยกันชัดเจน คุณไชยชนกเป็นเลขาธิการพรรคอยู่แล้ว ความเป็นเลขาธิการพรรค การร่วมมือกันด้วยหลักการ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว อยู่ๆ ประกาศชื่อไชยชนก เป็นลูกนายเนวินกับแม่กรุณา ถามว่าคุณไชยชนก ประกาศตัวกำลังจะบอกอะไร แล้วระหว่างคุณไชยชนกกับคุณอนุทิน ตนควรจะเชื่อใคร การเป็นเลขาธิการพรรคควรมีความเข้าใจ ไม่อยากจะบอกว่าวุฒิภาวะควรจะมีความเข้าใจมากกว่านี้ และควรทำอะไรที่มีความสุขุมรอบคอบมากกว่านี้
แต่ที่แรงสุดคือ “นายอดิศร เพียงเกษ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ได้ร่ายกลอนแสดงความคิดเห็นกรณี นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรค ภท. ประกาศส่วนตัวกลางสภา ไม่มีวันเห็นด้วยกับกาสิโน โดยมีเนื้อหา ไม่อยากร่วม รัฐบาล ก็ออกไป ภูมิใจถอก ภูมิใจไทย รีบไสหัว อย่าเป็นเข้ขวางคลอง อย่าอนอัว อย่ายกตัว ข่มคนอื่น มันคลื่นไส้

ส่วน “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. กล่าวว่า ได้ไลน์ไปขออภัยนายกฯ แล้ว สิ่งที่นายไชยชนกได้อภิปราย เป็นความเห็นส่วนตัว ก่อนที่สมาชิกพรรคจะขึ้นอภิปราย พรรคต้องอนุมัติก่อน ซึ่งกรณีเมื่อวันที่ 9 เม.ย. พรรคไม่ได้มีการอนุมัติ เมื่อถามว่าได้มีการเคลียร์กับนายไชยชนกแล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่ต้องเคลียร์ รู้สึกว่าเขามีความเครียดเยอะ ซึ่งนายไชยชนกก็ไม่ได้แจ้งตนว่าจะขึ้นอภิปราย นี่คือเหตุผลที่พรรคจะมีการประชุมทุกครั้ง ก่อนที่จะประชุมสภา เพื่อที่จะรู้ได้ว่าสมาชิกคนไหนจะพูดเรื่องอะไรบ้าง เราไม่ได้มีมติว่าจะให้มีใครขึ้นมาพูด ฉะนั้นตนก็ไม่รู้ เพราะถ้าพรรคมีมติให้นายไชยชนกขึ้นมาพูดเรื่องอย่างนี้ ตนก็ต้องอยู่ในที่ประชุมสภา แต่นี่ไปทำงานอยู่ข้างนอก เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับนายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะบิดานายไชยชนกแล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็คุย แต่นายไชยชนก เขาพูดในนามของเขาเอง อย่าไปมองว่าเขาเป็นลูกชายของใคร แต่ยืนยันไม่ใช่มติของพรรค แนวทางพรรค ภท.ยังเหมือนเดิม คือสนับสนุนรัฐบาล
ต้องลุ้นว่า รอยร้าวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะขยายวงเป็นรอยแตกหรือไม่ หลัง “พท.” และ “ภท.” มีปัญหาระหองระแหงกันต่อเนื่อง ยิ่ง “นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร” ยืนยันเดินหน้าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่กำหนดให้มีกาสิโน 10% ของพื้นที่ ซึ่งกลุ่มคัดค้านต่างเรียกร้องให้ถอนร่างดังกล่าว อย่าลืม ด้วยเสียงสนับสนุนของรัฐบาลมี 319 เสียง แม้จะขาด ภท.ที่มี 69 เสียงก็ยังอยู่ได้ ต้องรอดูว่าจะถึงจุดนั้นหรือไม่

ถูกจับตามองและมีบทบาทชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง “ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.)” ซึ่งมีอายุครบ 27 ปี โดยได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการในโอกาสครบรอบ 27 ปี หัวข้อ ศาลรัฐธรรมนูญกับการก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 บทบาทและความคาดหวัง โดยมีมุมของอดีตตุลาการศาล รธน.และนักวิชาการ “นายจรัญ ภักดีธนากุล” อดีตตุลาการศาล รธน. กล่าวว่า ประกาศของคณะปฏิวัติมีสถานะเป็นกฎหมายยั่งยืนยาวนาน แม้พ้นภารกิจไปแล้ว ดังนั้นไม่น่าจะเป็นกฎหมายได้อีกต่อไป จึงอยากให้ศาล รธน.ชุดปัจจุบันแก้ให้ได้ เพียงแค่วินิจฉัยว่าคณะปฏิวัติที่พ้นจากอำนาจไปแล้ว บรรดาคำสั่งประกาศที่เคยเป็นกฎหมายพ้นสภาพความเป็นกฎหมายต่อไป และขอร้องฝ่ายการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติอย่าเขียนกฎหมายให้ศาล รธน.หรือศาลใด ต้องสั่งให้ยุบพรรคการเมือง ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะการยุบพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนที่สามัคคีกันกลายเป็นเผชิญหน้า
ส่วนการดำเนินงานของศาล รธน. 3 ข้อ คือ 1.ไม่เปิดช่องให้อำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจเถื่อน เข้ามาแทรกแซง ชี้นำครอบงำการทำงานของเหล่าตุลาการ 2.ต้องสำรวจมาตรฐานของศาล รธน.ของนานาประเทศ ว่าเราชอบธรรมหรือไม่ ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล 3. ใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่กอบโกยกันตามกำลัง มือใครยาวสาวได้สาวเอา

“นายไชยันต์ ไชยพร” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับตนให้คะแนนดีมากสำหรับวิทยานิพนธ์ ที่ศึกษาบทบาท อำนาจของศาล รธน. ตั้งแต่ปี 2541-2557 ซึ่งมีการตัดสินคดีจำนวนมาก ทั้งยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง หากให้คะแนนความอึดอดทน อุตสาหะกับอ่านกฎหมายและกระแสโจมตีให้ 100% และยังมีเรื่องของการคุกคามที่หนักมาก ถ้าไม่อยากให้ศาล รธน. ยุบพรรค ก็อย่าเขียน รธน.ให้มีบทบัญญัติเรื่องการยุบพรรค แต่คะแนนการสื่อสาร ขอให้น้อย เพราะไม่ค่อยมีคำอธิบาย และสื่อสารกับประชาชน ซึ่งศาล รธน.เป็นองค์กรที่จะช่วยทำให้ไม่เกิดปัญหาในสงคราม ความขัดแย้ง ที่จะชี้ว่าฝ่ายไหนผิดหรือถูก

ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 50 ศาล รธน. กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีบทบาท และส่งผลต่อทิศทางทางการเมือง และใน รธน.ปี 60 ศาล รธน.มีอำนาจมากขึ้น เช่น เพิ่มอำนาจในการตีความมาตรฐานจริยธรรมส่วนบุคคล ทำให้กลายเป็นบุคคลที่ชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองมากขึ้น ดังนั้นศาลต้องมองว่าการตีความจะส่งผลกระทบอะไรต่อไปในอนาคตข้างหน้า และการเป็นคนกลางในบริบทของชีวิตทางการเมืองหรือของ รธน. คนจะมองว่าศาลยืนอยู่ตรงกลางจริงๆ หรือไม่ แต่ในอนาคตควรจะปรับเปลี่ยนสถานะองค์กร ที่มาของตุลาการ อำนาจหน้าที่ รวมทั้งตัวบทกฎหมายวิธีพิจารณาความ และในระยะยาวควรมีการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.เกี่ยวกับศาล รธน.
ถือเป็นความเห็นที่น่าสนใจ และช่วยสะท้อนไปถึงการทำงานของศาล รธน. ซึ่งมีบทบาทสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะไม่เปิดช่องให้อำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจเถื่อน เข้ามาแทรกแซง ชี้นำครอบงำการทำงานของเหล่าตุลาการ
“ทีมข่าวการเมือง”