เมื่อวันที่ 11 เม.ย. น.ส.พลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานพิธีเปิดชุมชนบ้านถ้ำรงค์ 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และเปิดงานมรดกถ้ำรงค์ ตอน “ทุ่งนา ป่าตาล ตำนานทวารวดี ยลวิถีถ้ำรงค์” โดยมีร้อยตำรวจโทภพชนก ชลานุเคราะห์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายสำรวย นักการเรียน ผู้ตรวจราชการวธ. พร้อมด้วยชาวชุมชนบ้านถ้ำรงค์ ร่วมพิธี ที่ชุมชนบ้านถ้ำรงค์ ต.ถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

ภายในงานมีกิจกรรม อาทิ ชมขบวนวัวเทียมเกวียน การแสดงศิลปวัฒนธรรมอัตลักษณ์ชุมชนและพิธีเปิดชุมชนฯ เฉาะลูกตาลซึ่งเป็นอัตลักษณ์โดดเด่นของชุมชน บูธสาธิต จัดแสดงผลิตทางวัฒนธรรม อาหารพื้นถิ่น การจำหน่ายสินค้าชุมชน พร้อมชมกิจกรรมในงานมรดกถ้ำรงค์ เช่น การแสดงโชว์ว่าว การแข่งแรลลี่ล้อโตนด ชมหนังกลางแปลง

น.ส.พลอย กล่าวว่า ขอชื่นชมจ.เพชรบุรี ชุมชนบ้านถ้ำรงค์ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้ให้ความสำคัญ ร่วมผลักดันขับเคลื่อนงาน “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนบ้านถ้ำรงค์ จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ และได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และสามารถเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของไทย อีกทั้งยังเป็นชุมชนที่แสดงถึงศักยภาพ ความเข้มแข็งของชุมชนบ้านถ้ำรงค์และความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยว ได้เป็นอย่างดี

น.ส.พลอย กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ชุมชนบ้านถ้ำรงค์ เป็นชุมชนที่ห้อมล้อมด้วยธรรมชาติสวยงาม และมีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านการทำเกษตรกรรมที่ชาวบ้านยังรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่เรียบง่ายไว้ และสิ่งที่โดดเด่น คือ เป็นชุมชนที่มีต้นตาล หรือตาลโตนดอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีตาลเมืองเพชรแบบครบวงจร ซึ่งตาลโตนดถือเป็นทุนทางธรรมชาติอันเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของเพชรบุรี ชุมชนบ้านถ้ำรงค์จึงมีภาพจำด้วยทัศนียภาพที่งดงามของท้องนาและแนวต้นตาลที่ทอดยาว ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาสัมผัส นอกจากความงามทางธรรมชาติ ชุมชนยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่ผสมผสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น “สวนตาลลุงถนอม” ที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับตาลโตนดและมีสินค้าเกษตรปลอดสารพิษให้ได้ชิม/ช็อป รวมถึงกิจกรรมเยี่ยมชมวัดถ้ำรงค์ที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ”พระพุทธรูปเก่าแก่ พร้อมชมหินงอกหินย้อย ณ ถ้ำหลวงพ่อดำ ภายในวัดถ้ำรงค์และกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น การเรียนรู้และ Work Shop การทำว่าวไทย จักสานใบตาล การทำขนมตาล เป็นต้น

น.ส.พลอย กล่าวด้วยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เมื่อมาเที่ยวชุมชนบ้านถ้ำรงค์แล้วห้ามพลาด คือ การลิ้มรสอาหารพื้นบ้าน เช่น น้ำพริกกะปิ ทอดมันมะละกอ ต้มสีนวล ชุมชนยังมีเมนูขึ้นชื่อทั้งคาวหวานและเครื่องดื่มที่ทำจากตาลโตนด คือ แกงหัวโหนด (แกงหัวตาล) ยำหัวโหนด (ยำหัวตาล) ขนมตาล ลูกตาลลอยแก้ว จาวตาลเชื่อม ขนมต้มไส้จาวตาล โตนดทอด น้ำตาลสด และลอดช่องน้ำตาลข้น นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อเป็นของฝากของที่ระลึก เช่น ลูกตาลสด พวงมาลัยใบตาลและงานจักสานใบตาล ว่าวไทยในกรอบไม้ตาล ของใช้ในครัวเรือนจากไม้ตาล รวมทั้งผลไม้ตามฤดูกาลและสินค้าทางการเกษตรของชุมชน เป็นต้น