ห้วงเหตุการณ์ใหญ่กระทบจิตใจเช่นนี้ มีภัยมิจฉาชีพใดบ้างที่สังคมควรระวังเป็นพิเศษ “ทีมข่าวอาชญากรรม”สอบถามกับ “รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล” รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และที่ปรึกษาพิเศษของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ถึงเรื่องราวการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ ยกกรณีหลังเหตุแผ่นดินไหวกับเคส“ลุงสมนิจ”ที่ผูกเรื่องราวสร้างดราม่า ตัวอย่างเหตุการณ์นี้สะท้อนข้อกังวลใดบ้างในสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุ กรณีดังกล่าวเป็นการสร้างเรื่องราว หรือกุเรื่อง เพื่อหวังรับเงินบริจาค หรือการช่วยเหลือจากหน่วยงาน หรือจากคนที่มีจิตสงสารเมตตา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ก่อนยื่นมือช่วยเหลือ หรือให้เงินควรต้องตรวจสอบให้ชัด โดยเฉพาะถ้าเป็นข้อมูลที่ผ่านแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ หรือไม่ใช่แพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือได้ เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบก่อน
ขณะประเด็นเปิดรับบริจาค เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบเหตุอาคารถล่ม เป็นอีกเรื่องที่น่ากังวลเพราะไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ที่เปิดรับบริจาคนั้น มีการนำเงินไปช่วยเหลือ และถึงมือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน
“ถือเป็นเรื่องดีถ้าคนไทยจะช่วยกัน เพียงแต่แพลตฟอร์มนั้นๆ ต้องน่าไว้ใจ เชื่อใจ และมั่นใจ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบข้อมูลมากพอสมควร”
นอกจากการเปิดรับเงินบริจาค รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ยังเผยถึงการสร้าง account ปลอม หรือ account ที่คล้ายหน่วยงานราชการหลอกให้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือกรณีบ้าน อาคาร คอนโด ที่อยู่ในเขตพื้นที่ภัยพิบัติ ทำให้คนร้ายได้ข้อมูลส่วนบุคคล และยังสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลอื่น ไปจนถึงแฮกข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อนำไปใช้ทำธุรกรรมอื่นๆต่อ พร้อมย้ำเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเวลาเกิดเหตุในกรณีภัยพิบัติแบบนี้ เพราะต่างประเทศเผชิญปัญหานี้เช่นกัน
“อาชญากรรมทางไซเบอร์(Cyber crime) เป็นปัญหาทั่วโลก โดยเฉพาะคนร้ายจะอาศัยช่วงสถานการณ์ที่คนกำลังต้องการความช่วยเหลือ เดือดร้อน อยู่ในภาวะวิกฤติ กลายเป็นซ้ำเติม เรียกว่าเป็นการฉ้อโกงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งต่างประเทศก็จะเจอปัญหาเหล่านี้คล้ายกัน”
ส่วนการระวังภัยออนไลน์“หลัง”เกิดภัยพิบัติ หรือเหตุสะเทือนขวัญนั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า สิ่งแรกควรพิจารณาข้อมูลที่ส่งต่อกันมาว่ามีแหล่งข้อมูลเชื่อถือได้มากแค่ไหน เช่น หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวมีการแชร์ข้อมูลว่าเกิดอาคารสั่นไหวอีกครั้ง ก็ต้องเช็คกับหน่วยงานราชการว่ามีการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวหรือไม่ และแม้บางคนอาจระบุว่าไม่เคยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนมาก่อน แต่อย่างน้อยควรมีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้บ้าง
“หากไม่มีการเช็คข้อมูล คนร้ายอาจฉวยโอกาสสร้างเรื่อง เช่น สร้างสถานการณ์ว่าเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณนี้ คนก็จะรีบออกจากตึก และถ้าไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ คนร้ายก็แฝงตัวเข้าไปเอาทรัพย์สินที่มีค่าในช่วงชุลมุน เพราะระหว่างที่คนตื่นตระหนกจะละทิ้งทรัพย์สินมีค่าไว้ กลายเป็นช่องว่างให้คนร้ายสบโอกาสเข้าไปก่อเหตุและก็จะอาศัยสถานการณ์ชุลมุนนี้หลบหนี แม้กระทั่งการหลอกลวงทางออนไลน์ เช่น ขอรับบริจาคบ้าง สร้างเรื่องราวบ้าง หรือให้ลงทะเบียนกรอกข้อมูลส่วนบุคคลบ้าง”
เมื่อถามถึงห้วงเวลาที่ทุกคนรู้สึกร่วมถึงความสูญเสียเดียวกัน จะเป็นความเสี่ยงให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาหาประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน ในเรื่องนี้ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุ ปกติคนร้ายมักก่อเหตุอยู่แล้ว ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ในสถานการณ์ที่มีคนต้องการความช่วยเหลือ หรืออยู่ในภาวะจิตใจบอบช้ำ อาศัยว่าคนไทยเป็นคนขี้สงสาร ใจอ่อน ก็จะใส่เทคนิคตรงนี้มาหลอกลวงคนไทยด้วยกัน
เช่น รู้ว่าคนไทยสงสารสัตว์ก็เปิดเพจรับบริจาค โดยใช้ภาพสัตว์ที่ดูน่าสงสาร หรือมีสภาพร่างกายผอม หรือเปิดเพจไถ่ชีวิตโคกระบือ เป็นต้น ขณะบางคนก็สร้างเป็นเรื่องราว โดยนำภาพเด็กที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมาเปิดรับบริจาค ดังนั้น เรื่องราวแบบนี้จะมีขึ้นในรูปแบบหลากหลายแตกต่างกัน การเช็คแหล่งข้อมูลจึงสำคัญ
“เมื่อเกิดเหตุสะเทือนขวัญ สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากมิจฉาชีพ 1.การเปิดรับบริจาค 2.การหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลผ่านเว็บไซต์ปลอม ที่ทำเลียนแบบคล้ายเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ 3.สร้างเรื่องราว เช่น เป็นญาติกับผู้สูญเสีย หรือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุแผ่นดินไหว ทำให้ขาดรายได้ ไม่มีอาชีพ”
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ แนะนำให้ประสานมาที่ตำรวจไซเบอร์ เพื่อช่วยตรวจสอบและเฝ้าระวังป้องกันได้ดียิ่งขึ้น
พร้อมชี้แจงข้อสงสัยผู้อาศัยช่วงชุลมุนก่อเหตุ เป็นมืออาชีพ หรือขาจรว่า มิจฉาชีพเป็นได้ตลอด ไม่ว่าคนที่กระทำความผิดอยู่แล้ว หรือคนที่อาศัยพฤติกรรมเลียนแบบ เรียนรู้จากคนที่เคยก่อเหตุก่อนหน้านี้ เมื่อเห็นว่าได้เงินก็มักจะเลียนแบบพฤติกรรมการก่อเหตุด้วยเช่นกัน อีกทั้งอาชญากรรมออนไลน์เป็นอาชญากรรมไร้พรมแดน อยู่ที่ไหนก็ปลอมแปลงตัวตนเป็นมิจฉาชีพได้
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ทิ้งท้ายหลังห้วงเวลาแห่งความสูญเสีย นอกเหนือจากการส่งกำลังใจให้ครอบครัวผู้สูญเสียผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบาก คือการถอดบทเรียน โดยเฉพาะหน่วยงานเกี่ยวข้องตั้งแต่การเฝ้าระวัง การแจ้งเตือน หรือมาตรการ SMS Cell Broadcast และการต้องทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น ไม่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือกำลังจะเกิดขึ้น ตรงนี้คือบทเรียนอีกครั้งสำหรับคนไทย
“สุดท้ายคือ การมีความเห็นอกเห็นใจ ความสงสารเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่เราอาจต้องดูเรื่องความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล แหล่งข้อมูล หรือแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้ รวมถึงคนที่ขอรับบริจาค ถึงเป็นหน่วยงานราชการก็ต้องดู URL เว็บไซต์ที่มีความเชื่อมั่นได้ว่าเป็นของจริง” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุ.