เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 68 แฟนเพจ หมอเวร ได้ออกมาโพสต์เตือนประชาชน หลังมีคลิปในโซเชียลแนะนำท่า “ไขว้นิ้วแล้วกระดิกนิ้วก้อย” เพื่อเช็กความผิดปกติของหลอดเลือดสมองว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง พร้อมย้ำว่า “การกระดิกนิ้วก้อยได้หรือไม่” นั้นเกี่ยวข้องกับ “เส้นประสาทส่วนปลาย” พร้อมย้ำว่าการรักษา “โรคหลอดเลือดสมอง” ต้องแข่งกับเวลา โดยเฉพาะการให้ยาละลายลิ่มเลือด (rtPA) ต้องทำภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เพื่อเพิ่มโอกาสฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงปกติที่สุด

โดยเพจหมอเวร ระบุข้อความว่า “เมื่อเช้าไถ Reel เล่นไปเจอคลิปหนึ่งเข้า เขาบอกว่าถ้าไขว้นิ้วแบบนี้ แล้วยังกระดิกนิ้วก้อยได้ แสดงว่าเส้นเลือดสมองยังปกติ พอดูไปดูมาก็ชักเอ๊ะ เลยเดินไปหาอาจารย์ที่ศูนย์สมองโรงพยาบาลรามคำแหง คำแรกที่แกบอกเลยก็คือ มันไม่เกี่ยวกับอาการสโตรกเลยสักนิด อย่าไปเสียเวลาไปฝึกไขว้นิ้วเลย เดี๋ยวจะนิ้วล็อกเปล่าๆ คือ ท่าไขว้นิ้ว เพื่อกระดิกนิ้วก้อยเนี่ย มันเกี่ยวกับเส้นประสาทส่วนปลายที่แขนมากกว่า เรื่องหลอดเลือดสมองนะ ซึ่งถ้าเกิดมีอาการสโตรกจริงๆ ขึ้นมาเนี่ย แทนที่จะมานั่งไขว้นิ้ว สู้เอาเวลารีบนั่งรถไปหาหมอ หรือรีบโทร 1669 ดีกว่า”
อีกทั้ง “อย่าไปคิดว่ามันจะดีขึ้นได้เอง เพราะสโตรกอย่างที่เคยย้ำ ว่ามันต้องแข่งกันเวลา เช่น ถ้าจะรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด (rtPA) ก็ต้องมาภายใน 4.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพราะคือช่วงเวลาทองสำหรับการให้ยา ไม่งั้นโอกาสกลับมาเหมือนเดิมจะริบหรี่อย่างมาก ทีนี้ก็คงสงสัยกันว่า ถ้าไม่ไขว้นิ้วแล้วจะรู้ได้ยังไง ว่ามีอาการสโตรก ก็ให้ลองสังเกตโดยใช้สูตร “BEFAST” ซึ่งมันคืออักษรย่อที่จะช่วยชีวิตได้”
ความหมายของสูตร “BEFAST” มีดังต่อไปนี้
1. B (Balance) คือ ดูว่ามีอาการเวียนหัว เดินเซ ทรงตัวไม่ได้มั้ย
2. E (Eyes) คือ มีอาการตามัว หรือการมองผิดปกติหรือเปล่า
3. F (Face) คือ สังเกตว่ายิ้มแล้วมุมปากตก หน้าบูดๆ เบี้ยวๆ หรือไม่
4. A (Arms) คือ ยกแขนสองข้างไม่เท่ากัน แขนตกข้างหนึ่งหรือเปล่า
5. S (Speech) คือ พูดไม่ชัด หรือพูดเหมือนลิ้นพันกัน
6. T (Time) คือ ถ้ามีอาการใดข้อหนึ่ง รีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะความเสียหายของสมองมันรันต่อเรื่อยๆ
อีกทั้ง “ส่วนการป้องกันว่ากันตามตรง คือ ความน่ากลัวของอาการนี้ คือ เราบอกไม่ได้เลยว่า มันจะมาตอนไหน ดังนั้น วิธีที่จะช่วยได้เลยก็คือ ต้องคุมโรคประจำตัวของตัวเองให้ดีทั้งไขมัน ความดัน และเบาหวาน ส่วนใครที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ก็ลุกขึ้นมาขยับบ้าง อย่างเดินไปเปิดตู้เย็นในครัว ไม่เรียกว่าออกกำลังกายนะ นอกจากนั้นก็เรื่องการพักผ่อน เรื่องการกินอาหารลดเค็ม ลดมัน ที่สำคัญคือหาเวลาไปตรวจสุขภาพบ้าง จะได้รู้ตัวกันได้ทัน สุดท้ายแกก็บอกว่า พวกเรื่องต่างๆในอินเทอร์เน็ต ดูแค่ความบันเทิงก็พอไหวอยู่หรอก อย่าไปเชื่อจริงจัง หรือถ้าก่อนจะเชื่อ ก็ต้องเช็กข้อมูลสักหน่อย ไม่ใช่อะไรก็เชื่อไปเสียหมด โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ อย่าไปเดาเอาเองว่า ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะถ้ามันพังขึ้นมา มันไม่ได้หาอะไหล่มาเปลี่ยนได้นะ”
นอกจากนี้ “เวลาเป็นสโตรกขึ้นมา จริงอยู่ว่าควรไปรพ.ให้เร็วที่สุด แต่ขอเสริมว่าควรไปให้ถูกที่ ก็จะลดความเสี่ยงในการพิการลงได้ เพราะบางโรงพยาบาล ถ้าเกิดอุปกรณ์ไม่พร้อม หรือไม่มีหมอเฉพาะทางอยู่ ก็ทำให้ไม่สามารถรักษาได้ทันท่วงที คนไข้ก็ต้องเสียเวลาในการส่งตัวอีกรอบ และลดโอกาสในการกลับมาหายเป็นปกติก็น้อยลงไปอีกนั่นเอง”
อย่างไรก็ตาม “ถ้ามีเวลาว่างวันไหนก็ลองโทรเช็กรพ.ใกล้ ๆ ดูว่ามีอุปกรณ์และมีหมอเฉพาะทางตลอด 24 ชม. มั้ย เพราะไม่ใช่ทุกที่จะมีระบบ “stroke fast track” หรือ “stroke team” ดังนั้น ถ้าเจอที่ไหนแล้วก็ล็อกเป้าทำประวัติรพ.นั้นๆ พร้อมแจ้งญาติใกล้ตัวรอไว้เลย เกิดเป็นขึ้นมาแล้วเราไม่ได้สติ ญาติจะได้รีบพาเราส่งตัวได้ถูกที่ และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตมากยิ่งขึ้นนั่นเอง”
ขอบคุณข้อมูล : หมอเวร