เมื่อวันที่ 12 พ.ค. เวลา 17.00 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำสื่อมวลชนเข้าสังเกตการณ์การปฏิบัติการการค้นหาชิ้นส่วนอวัยวะของผู้สูญหาย ของทีมกู้ภัย และสุนัข K-9 ภายในพื้นที่บริเวณด้านหลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ถนนกำแพงเพชร แขวงและเขตจตุจักร กทม. ซึ่งเป็นจุดทิ้งซากอาคารและพัสดุของอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม ที่สูงประมาณ 6 เมตร การปฏิบัติการดังกล่าวใช้เวลาเพียง 40 นาทีก็ต้องยุติลงเนื่องจากมีสภาพฝนตกและฟ้าคะนอง เสี่ยงเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน แต่ก่อนหน้านี้ ก็ไม่พบชิ้นส่วนอวัยวะผู้สูญหายเพิ่มเติม

นายภุชชพงศ์ สัญญโชติ ผอ.กองปฏิบัติการ ดับเพลิงและกู้ภัย 3 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะพบผู้รอดชีวิตภายในอาคารที่ถล่มลงมาในลักษณะแพนเค้กซีเมนต์ การนำร่างของผู้เสียชีวิตออกจากอาการ จึงเป็นความท้าทายที่ยากมาก ความสูงในวันเกิดเหตุ 137 เมตร ลดลงเหลือ 26.8 เมตร ลดลงไป 100 กว่าเมตร เป็นงานที่ยากมากในการค้นหา เราพยายามเต็มที่แล้วเราก็พบร่างเยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ คือ ร่าง 89 ร่าง ยังคงสูญหายอีก 7 ราย ซึ่งเป็นเรื่องของทางนิติวิทยาศาสตร์ที่จะต้องทำการตรวจสอบชิ้นเนื้อและนำกระดูกไปตรวจหาดีเอ็นเอ เพราะลายนิ้วมือไม่สามารถดำเนินได้ ถ้าหากเจอฟันก็จะสามารถตรวจหาดีเอ็นเอได้แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก เน้นหนักไปที่ทางดีเอ็นเอมากกว่า

“เศษซากต่าง ๆ ที่อยู่ในไซด์งานนั้นเหลือไม่มากแล้ว เมื่อนำเศษวัสดุต่าง ๆ มาไว้ จะตรวจสอบโดยสุนัข K-9 จะเข้ามาตรวจสอบทุกเช้า-เย็น เพื่อทำการตรวจสอบหาชิ้นส่วนมนุษย์ วันนี้จะให้สื่อมวลชนมาดูพื้นที่และการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยถ้าฝนตกก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้เนื่องจากเราอยู่ในที่โล่ง มีโอกาสที่ฟ้าผ่าสูง เพราะเราไม่ได้เก็บเอาวัสดุที่เป็นสื่อนำวัสดุนำไฟฟ้าออก” นายภุชชพงศ์ กล่าว

รศ.ทวิดา กล่าวย้ำว่า วันนี้ได้เป็นการปฏิบัติการที่ทำตามปกติที่จะให้ทีมค้นหาและสุนัข K-9 เข้ามาค้นหาในช่วงเช้าและเย็น โดยในวันพรุ่งนี้จะเป็นการค้นหาเป็นครั้งสุดท้ายในเวลา 05.00 น. ในการค้นหาก็เพื่อค้นหาชิ้นส่วนมนุษย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีชิ้นส่วนมนุษย์ติดค้างอยู่ภายในกองซาก

เบื้องต้นได้มีการล้อมรั้วไว้เหมือนเดิม เพราะข้างในยังเป็นพื้นที่ต้องห้าม และมีวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่สามารถให้ใครนำออกไปได้ และจะมีการนำกล้องต่างๆ มาติดไว้รอบๆ เหมือนเดิม ซึ่งที่ผ่านมาพบชิ้นส่วนมนุษย์เพียงหลัก 10 ชิ้นเท่านั้น และในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ทางสำนักงานเขตจตุจักรจะคืนพื้นที่ให้กับทาง สตง. และคาดว่าทางตำรวจจะเข้ามาอายัดพื้นที่เพื่อดำเนินการต่อในเรื่องของคดีความทันทีเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง ซึ่งในวันพรุ่งนี้ก็จะมีการประชุมกันกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อหาแนวทางต่อไป

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ส่วนค่าใช้จ่ายในการกู้ภัยทั้งหมดนั้นยังไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขทั้งหมดได้แต่ค่าซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนอยู่ที่ประมาณ 176 ล้านบาท แต่ยังมีค่าน้ำมันต่างๆ ค่าซ่อมบำรุง เครื่องจักร ซึ่งนอกจากนี้บริษัทอิตาเลียนไทย ยังรับผิดชอบในส่วนของค่าน้ำมันและค่าคนงานที่เข้ามาช่วยเหลือในครั้งนี้ ส่วน กทม. เองยังไม่ได้มีการจ่ายเงินจ้างใครมาในเหตุการณ์นี้ เพราะส่วนใหญ่จะมีคนอาสาสมัครมาช่วย เราจึงอยากฝากขอบคุณผ่านสื่อมวลชนไป