“เครื่องปรับอากาศ” เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้ายอดฮิตอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในแทบทุกอาคารบ้านเรือน แต่หากใช้งานกันไปโดยไม่ใส่ใจการล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ จะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคต่างๆ ซึ่งรวมถึงโรค “ลีเจียนแนร์”
เกร็ดความรู้จากกระทรวงสาธารณสุขบอกเล่าถึงโรคลีเจียนแนร์ ว่า เป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก ทั้งเขตร้อนและเขตหนาว เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “ลีจิโอเนลลา (Legionella)” ปนเปื้อนมากับละอองน้ำ แล้วเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ เชื้อชนิดนี้มักพบในบริเวณที่มีน้ำขังนิ่ง มีความชื้นสูง และมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่มักพบในเครื่องปรับอากาศ ถังเก็บน้ำระบายความร้อนที่ใช้ในอาคารขนาดใหญ่ รวมถึงในก๊อกน้ำ เครื่องทำน้ำร้อน และฝักบัวอาบน้ำที่ไม่มีการดูแลรักษาความสะอาดอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม โรคดังกล่าวสามารถรักษาได้ และโดยปกติไม่ติดต่อจากคนสู่คน ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะปรากฎอาการภายใน 5-6 วันหลังได้รับเชื้อ แต่อาจอยู่ในช่วง 2-10 วัน

จุดเสี่ยงพบเชื้อโรคลีเจียนแนร์
-ระบบหอพึ่งเย็น
-ถังพักน้ำ ถังเก็บน้ำ
-หัวก๊อกน้ำ ฝักบัวอาบน้ำ
-ระบบท่อน้ำปิด
-ระบบน้ำร้อนรวม
-ถาดรองน้ำเครื่องปรับอากาศ
-สระว่ายน้ำ น้ำพุประดับอาคาร
-สปา

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรค “ลีเจียนแนร์”
-ผู้สูงอายุ
-ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์
-ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง
-ผู้ป่วยเป็นโรคปอดหรือโรคไตเรื้อรัง
อาการของโรค
@ กรณีอาการเบา คล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ โดยมีทั้งอาการปวดกล้ามเนื้อ มีไข้สูง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไอ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งในทางการแพทย์เรียกว่าโรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever)
@ รายที่มีอาการรุนแรง เชื้อเข้าสู่ร่างกายไปที่ปอด จะเกิดภาวะปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และอาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต จะเรียกว่าโรคปอดอักเสบลีเจียนแนร์
ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการเจ็บป่วยคล้ายกับอาการที่กล่าวมาข้างต้น ขอให้ไปพบแพทย์ แจ้งประวัติให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็หายขาด

การป้องกันโรคลีเจียนแนร์
1.ตรวจสอบระดับคลอรีนตกค้างของน้ำในบ่อพักทุกวันต้องไม่น้อยกว่า 0.2 ppm.
2.ตรวจสอบน้ำในระบบน้ำร้อนรวมต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส และน้ำที่ส่งออกต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส
3.ระบบปรับอากาศให้ใช้คลอรีนเข้มข้น 10 ppm.ในท่อที่ไปหอผึ่งเย็น 3-6 ชม.ให้ทั่วถึงทั้งระบบและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศทุก 1-2 สัปดาห์
4.ทำความสะอาดหัวก๊อกน้ำ และแช่ฝักบัวด้วยสารละลายคลอรีนเข้มข้น 10 ppm. หรือแช่น้ำร้อน 65 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที
5.ดูแลและล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ
6.ดูแลความสะอาดของแหล่งน้ำต่างๆ ภายในอาคารอย่างสม่ำเสมอ
7.ทำความสะอาดท่อหล่อเย็นหรือถาดรองน้ำหล่อเย็นของเครื่องปรับอากาศ อย่าให้มีน้ำขัง เปียกชื้น และควรทำให้แห้ง
