เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “เปิดพิรุธใหม่ #ตึกสตง บีบกรมโยธาฯ ออกแบบให้เสร็จใน 6 เดือน จนกรมโยธาปฏิเสธ-เปิดทาง สตง. จ้างเอกชนออกแบบ แต่กลับเสียเวลาเพิ่มขึ้น 1.5 ปี และดันวงเงินก่อสร้างพุ่งขึ้น จาก 1,500 ล้าน เป็น 2,500 ล้าน” จากเอกสารจากกรมโยธาฯ ที่ผมได้รับล่าสุด กลับปรากฏพิรุธใหม่ของ สตง. ที่น่าสนใจคือ

เมื่อ 31/3/2560 ทาง สตง. เคยมีหนังสือส่งไปให้ให้กรมโยธาฯ ช่วยออกแบบตึกวงเงินก่อสร้างไม่เกิน 1,500 ล้าน และบีบเวลาว่าต้องออกแบบตึกให้เสร็จภายในเวลาเพียง 180 วัน โดยอ้างว่าต้องจ่ายค่าเช่าที่ดิน ถ้าออกแบบนานจะยิ่งเสียค่าเช่าเยอะ แต่ด้วยเวลา 180 วัน มันน้อยเกินไป ทางกรมโยธาเลยตอบว่าตึกใหญ่ขนาดนี้ให้เวลา 180 วัน ทำไม่ทัน ซึ่งแทนที่ สตง. จะขยายเวลาให้กรมโยธาฯ เพิ่ม จะได้ไม่ต้องไปจ้างคนออกแบบ แต่ทาง สตง. กลับได้จังหวะ ไปจ้างเอกชนมาออกแบบแทน ซึ่งกว่าจะร่างและประกาศ TOR และกว่าจะคัดเลือกเสร็จ จนได้เซ็นสัญญากับคนออกแบบ วันที่ 9/10/2561 รวม สตง. เสียเวลาไป 1.5 ปี และเสียค่าเช่าที่ดินฟรีๆ อีก 40ล้าน

ที่ประหลาดกว่าคือ ด้วยความล่าช้าถึง 1.5 ปี กว่าจะได้จ้างคนออกแบบ อาจเป็นปัจจัยทำให้ สตง. ต้องไปบีบสัญญาคนออกแบบเหลือแค่ 150 วัน (5 เดือน) ซึ่งไม่รู้ว่า สตง. คิดได้ไงถึงให้เวลาแค่ 150 วัน เพราะขนาดตอนให้ 180 วัน กรมโยธาฯ ก็ยังบอกอยู่ว่าสั้นไป
อีกทั้งการเร่งรีบ บีบเวลาออกแบบมากเกินไป มันอาจส่งผลต่อความรอบคอบ และความปลอดภัยในการออกแบบ จนเป็นที่มาของ #ตึกถล่ม หรือไม่?

ทั้งหมดนี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่า เป็นหมากที่ สตง. ได้วางไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่? หรือเป็น #การตัดสินใจที่ผิดพลาด ของผู้บริหารในยุคนั้น แต่มันเริ่มจากการบีบเวลา เพื่อชงให้กรมโยธาฯ ตอบปฏิเสธ มีข้ออ้างเพียงพอให้ เปิดช่องเอาเงิน 73 ล้าน มาจ้างเอกชนมาออกแบบแทน แถมดันราคากลางจาก 1,500 ล้าน เป็น 2,500ล้าน (เพิ่มขึ้น 1,000 ล้าน) และที่สำคัญ มันไม่ได้ช่วยร่นระยะเวลา แต่กลับนานขึ้นกว่าเดิม จนเสียค่าเช่าที่ดินฟรีๆ ร่วม 40ล้านไปอีก

สรุป #5ความพังเละ จาก “การตัดสินใจผิดพลาด“ ของ สตง. บีบกรมโยธาฯ ให้ไม่สามารถออกแบบได้ จนทำให้
1. เสียเวลากว่าจะได้คนออกแบบ นานกว่าเดิม 1.5 ปี
2. เสียค่าเช่าที่ดินเพิ่มฟรีๆ 40 กว่าล้าน
3. เสียเงินจ้างเอกชนออกแบบ 73 ล้าน
4. วงเงินค่าก่อสร้างแพงขึ้นอีก 1,000 ล้าน
5. บีบเวลาเอกชนเหลือ 150 วัน จนอาจจะส่งผลต่อความรอบคอบและความปลอดภัยของแบบก่อสร้าง

“รวมความเสียหายจากการบริหารงาน และการตัดสินใจที่ผิดพลาดของ สตง. แค่เฉพาะเรื่อง “การออกแบบ” กลับสูงถึง 1,113 ล้าน เป็นอย่างน้อย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า สตง.จะยังมีหน้าไปตรวจการใช้เงินของชาวบ้านอีกหรือไม่ ในเมื่อตัวเอง ตัดสินใจผิดพลาดจนสร้างความเสียหายมากขนาดนี้”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ – Suphanat Minchaiynunt