นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ถ้าเราฟังเสียงที่ดังกว่า 85 เดซิเบล ติดต่อกันเกิน 8 ชม.ต่อวัน จะทำให้หูบอดได้ และยังบอกอีกว่าเราไม่ควรอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังเกิน 70 เดซิเบลต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำลายสุขภาพ ถ้าเสียงดังเกิน 40 เดซิเบล จะทำให้เรานอนหลับไม่เต็มอิ่ม และห้องนอนที่ดีควรมีเสียงดังไม่เกิน 30 เดซิเบล เสียงที่ดังเกินไปจะทำให้เราเครียด และเกิดวิตกจริต นานเข้าอาจจะเป็นโรค ประสาทได้ และเสียงที่ดังต่อเนื่องจะทำ ให้เรามีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดตีบ และโรคหัวใจ ร่างกายเราจะพังโดยไม่รู้ตัว เพราะมลพิษทางเสียง

ภาษานักวิทยาศาสตร์ที่พูดระดับค่า “เดซิเบล” ฟังดูยากที่จะเข้าใจ เพื่อให้เราเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น ลองคิดถึงเสียงที่เราพูดคุยกันจะอยู่ราว 60 เดซิเบล เสียงกระซิบจะอยู่ราว 15 เดซิเบล ในห้องสมุดเงียบ ๆ จะมีระดับเสียงไม่เกิน 45 เดซิเบล เสียงชักโครกจะดังราว 75 เดซิเบล จราจรบนถนนที่แออัดจะดัง 85 เดซิเบล และเด็กทารกที่กรีดร้องจะดัง 110 เดซิเบล เสียงคอนเสิร์ต หรือระดับเสียงเครื่องบินเจ็ตจะอยู่ที่ 120 เดซิเบล
แล้วรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มาตามราง มีเสียงดังเท่าไร
ปกติรถไฟฟ้าเมื่อวิ่งปกติจะมีเสียงดังราว 70–90 เดซิเบล แต่ในช่วงโค้ง หรือเบรกจะมีเสียงล้อเสียดสีกับรางดังขึ้นไปถึง 100–120 เดซิเบล

แล้วเรามาอยู่ใกล้รถไฟฟ้ากันทำไม
เพราะความสะดวกที่แลกมาด้วยมลพิษทางเสียง สำหรับผู้คนที่อาศัยตามอาคาร ห้องแถว คอนโดมิเนียม ไม่ว่าจะอยู่ก่อน หรือหลังการสร้างรถไฟฟ้า เมื่อมีรถวิ่งผ่านมีเสียงดังทุก ๆ 10-15 นาที มักจะหงุดหงิด เดือดร้อน และมีการร้องเรียน เกิดกรณีพิพาทมากมาย

แล้วมีนวัตกรรมอะไรช่วยทุเลาปัญหานี้ได้บ้าง
บริษัทผู้เดินรถก็พยายามหาวิธีแก้ไข เพื่อลดเสียงลง ด้วยวิธีต่าง ๆ อาทิ การทำกำแพงกันเสียงในบางช่วงที่มีอาคารหนาแน่น โรงเรียน โรงพยาบาล พยายามหานวัตกรรมชุดล้อที่เสียดสีรางน้อยลง พยายามขัดแต่งรางให้เรียบเพื่อลดเสียง และนวัตกรรมล่าสุด “Eco–Smart Damper” นวัตกรรมลดเสียง และแรงสั่นสะเทือนจากการขนส่งระบบราง

วันนี้ได้มีโอกาสมาแวะชมนวัตกรรม ใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงให้กับชุมชนเมือง โดยทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิศวกรผู้วิจัยเล่าว่าทีมวิจัยของท่านได้คิดค้นนวัตกรรมนี้มาหลายปี มีแล็บทดลองวัดเสียง ปรับเปลี่ยนส่วนประกอบของวัสดุอยู่หลายรอบ หาวิธีใช้วัสดุ Recycle ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเลิกใช้แล้วสามารถหมุนเวียนมาทำใหม่ แบบ Circular Economy แท่ง แดมเปอร์ที่นำมาให้ชมในวันนี้ ถือว่าเป็นนวัตกรรมชั้นยอดของนักวิจัยไทย ที่กำลังไปไกลถึงตลาดโลก ตอนนี้มียอดสั่งซื้อเข้ามาแล้วราว 600,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ขณะนี้กำลังเดินทางไป EU เพื่อติดตั้งที่รางรถไฟในประเทศเนเธอร์แลนด์ และกำลังมีคำสั่งซื้อ และความสนใจจากประเทศต่าง ๆ อาทิ ออสเตรเลีย อินเดีย และมาเลเซีย อีกด้วย

ส่วนในประเทศไทยได้ทดลองติดตั้งให้ BTS ในบริเวณที่มีปัญหาเสียงดังเกินมาตรฐาน ในช่วงที่เป็นทางโค้ง เมื่อวัดระดับเสียงจากสถานที่จริงแล้ว ลดลงไปได้ 3-5 เดซิเบล ดูตัวเลขทางวิทยาศาสตร์อาจจะไม่มากนัก แต่ความเป็นจริงนักวิจัยบอกว่าเสียงที่เคยดังที่ 100 เดซิเบล เมื่อติดแดมเปอร์นี้แล้ว รู้สึกว่าหูเรารับรู้เสียงเบาลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งนับว่าดีมาก กำลังรออยู่ว่า BTS รฟม. รฟท. จะหันมาสนับสนุนนวัตกรรมไทยนี้อย่างจริงจังเมื่อไร นอกจากยกระดับมาตรฐานการเดินรถแล้ว ยังลดกรณีพิพาท และสร้างสุขภาวะให้กับคนในสังคมเมือง ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของพวกเขา นับว่าเป็น CSR และโครงการความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกด้วย
ขอขอบคุณหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กระทรวง อว.โดยการสนับสนุนจาก สกสว. และกองทุน ววน. เน้นงานวิจัย นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ New S Curve และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG.