สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ว่า รายงานของคลังสมอง “โกลบอล ฟอเรสต์ วอตช์” (จีเอฟดับเบิลยู) เผยให้เห็นว่า พื้นที่ป่าถูกทำลายเพิ่มขึ้น 80% จากระดับในปี 2566 และเมื่อนับรวมทั้งหมดแล้ว โลกสูญเสียป่าไม้ปฐมภูมิในภูมิภาคเขตร้อนอันมีค่า 67,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าเบลเยียมหรือไต้หวัน ถึงสองเท่า

“การทำลายป่าไม้ในระดับนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบมากกว่า 20 ปีที่ผ่านมาตามข้อมูล” นางเอลิซาเบธ โกลด์แมน ผู้อำนวยการร่วมของจีเอฟดับเบิลยู กล่าวในแถลงการณ์สรุป

อนึ่ง ไฟป่า เป็นสาเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าเกือบครึ่งหนึ่งของตัวเลขข้างต้น โดยแซงหน้า “เกษตรกรรม” ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการทำลายป่าไม้ได้เป็นครั้งแรก

การสูญเสียพื้นที่ป่าในปี 2567 จากการตัดไม้ทำลายป่า และไฟป่า ทั้งแบบตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มลพิษ ปริมาณมากกว่า 3,000 ล้านตัน ซึ่งสูงเกินกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินเดีย จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ ป่าไม้เขตร้อน ซึ่งเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูงสุด และแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลับกลายเป็นพื้นที่ซึ่งถูกคุกคามมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าแห่งอื่น

ขณะที่ผู้เขียนรายงานระบุว่า “สภาพอากาศสุดขั้ว” เป็นสาเหตุที่ทำให้ไฟป่าในปีที่แล้วรุนแรงยิ่งกว่าเดิม และควบคุมได้ยากขึ้น.

เครดิตภาพ : AFP